นโยบายตลาดนำการผลิต กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

นโยบายตลาดนำการผลิต

กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

นายอนันต์  ดาโลดม
นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2561

 

นโยบายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตชลประทาน ทดแทนการปลูกข้าว รอบที่ 2 และ 3  ตามที่ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนนั้น  เริ่มปรากฏผลเป็นรูปธรรม

 

ท่านรัฐมนตรี ได้กำหนดดีเดย์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์  โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561  ความจริงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงนี้ เป็นการปลูกตามระบบปกติ  ซึ่งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย  เกษตรกรจะปลูก 2 รุ่น คือ

รุ่นที่ 1 ถ้ามีฝนตกต้นฤดูดี เกษตรกรจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤกษาคมหรือมิถุนายน และไปเก็บเกี่ยวเดือนกันยายนและตุลาคม  แต่เกษตรกรมักไม่นิยมปลูกในช่วงนี้ เพราะอาจเจอฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม  ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ติดดอกหรือดอกแห้ง ไม่ติดฝัก รวมทั้งการเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนและตุลาคม  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีความชื้นสูง คุณภาพต่ำ ขายไม่ได้ราคา  แต่ในปีนี้ฝนดีมาโดยตลอด  ในช่วงนี้น่าจะเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตที่ดี

รุ่นที่ 2 เกษตรกรจะปลูกในเดือนสิงหาคมตลอดทั้งเดือน และจะไปเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปีหรือต้นปีถัดไป ซึ่งไม่มีฝนในช่วงเก็บเกี่ยว  ข้าวโพดมีความชื้นต่ำ คุณภาพดีเป็นที่ต้องการของโรงงานอาหารสัตว์

 

ในปีนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เท่าที่ได้ตระเวนดูพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา  สังเกตจากการเตรียมดินและพื้นที่ของเกษตรกร  พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังลดลงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่  เพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีก่อนมีราคาดี  เริ่มต้นฤดู ตั้งแต่ 6.50 บาทต่อกิโลกรัม จนถึง 9 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเดือนเมษายน – พฤกษาคม 2561

 

ดังนั้น นโยบายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น หากได้ราคาเหมือนในปีก่อน นโยบายนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของท่านรัฐมนตรี

 

ความจริง โครงการนำร่องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3,000 ไร่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจะเริ่มวันที่ 1 สิงหาคม 2561 น่าจะเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่นที่ 2  เป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีตามระบบปกติของประเทศไทย  พื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ดอน เพราะหากจะปลูกทดแทนการทำนา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม  หากไม่มีการระบายน้ำออกที่ดี  ในช่วงฤดูฝนนี้มีน้ำท่วมขังในนา  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวอาจจะไม่ได้ผล

 

การเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ คือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น  ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง และประการสำคัญคือ ต้องขอความร่วมมือจากพ่อค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์:

  1. อย่ากดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะพ่อค้ามักจะมีเหตุผลที่จะมาอ้างเสมอว่า ผลผลิตมาก เกิดความต้องการของตลาด (ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้) เพราะประเทศต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ ประมาณปีละ 7-8 ล้านตัน แต่เราผลิตได้ ประมาณปีละ 4 ล้านตันเศษ ผลผลิตในประเทศต่ำกว่าความต้องการใช้อีกมาก
  2. อย่าเอาเปรียบเกษตรกร เช่น หัก % ความชื้น หักสิ่งเจือปนเกินความเป็นจริง  รวมทั้งการโกงน้ำหนัก (โกงตาชั่ง) ซึ่งจะพบเสมอๆ
  3. รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้ง ข้าวสาลี จนมีผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
  4. พ่อค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยงานภาครัฐต้องเข้มงวดกวดขันในการจับกุมและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด

 

พ่อค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และโรงงานอาหารสัตว์ ต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนนโยบายการปลูกข้าวโพดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หากเกษตรกรได้รับราคาที่ยุติธรรม  นโยบายนี้ ก็จะประสบความสำเร็จ  ลดการนำเข้า  ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศลง ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ต่างก็ได้รับผลประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน

 

นี่คือ โครงการประชารัฐ

 

******************************************