ทำไมต้องออกมาโวยวาย เมื่อมีผู้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ….

 

ทำไมต้องออกมาโวยวาย

เมื่อมีผู้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ….

นายอนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

 

ผมแปลกใจที่เครือข่าย NGO ออกมาโวยวายจากการที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …. ได้เสนอหนังสือคัดค้านร่าง พรบ. ดังกล่าว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะข้อเท็จจริงคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศให้ประชาชนได้ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …. ผ่านทางเว็บไซด์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561

ดังนั้น การยื่นหนังสือคัดค้านหรือแสดงความไม่เห็นด้วยนี้ เป็นการดำเนินการตามความต้องการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะให้ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะเกษตรกร

นอกจากออกมาโวยวายในเรื่อง พรบ. ดังกล่าวแล้ว  กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ยังได้เชื่อมโยงไปถึงนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่รัฐบาลต้องการให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี  โดยเอาไปผูกว่า ถ้า พรบ. นี้ ถูกคว่ำไปจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ได้ และบางคนยังนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องการแบนสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส

จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า กระบวนการนี้ เป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ เชื่อมโยงและผูกกันเป็นเครือข่ายที่น่ากลัวในการที่จะเข้ามากำหนดทิศทางนโยบายทางด้านการเกษตรของประเทศไทย โดยเริ่มจาก

  1. สร้างสถานการณ์ให้เห็นความเลวร้ายของภาคเกษตรไทย และพี่น้องเกษตรกรไทย ว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมและต่อผู้บริโภค โดยการเขียนบทความและใช้สื่อต่าง ๆ กล่าวหาว่า “ภาคเกษตรไทย ไร้ประสิทธิภาพ ผลผลิตคุณภาพต่ำ ต้นทุนสูง”, “ผลผลิตมีสารตกค้าง เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค”, “หยุดสารเคมี เกษตรสารพิษ ฆ่าทุกชีวิตที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ใช้การผลิตอินทรีย์” หรือ “ยาฆ่าแมลงปนเปื้อนในผัก หนึ่งในสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตปีละ 45,000 คน” และการแก้ปัญหาคือ “เกษตรอินทรีย์ คือ พระเจ้า ที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยอยู่รอด เกษตรไทยจะรอดพ้นจากความทุกข์ยาก หลุดพ้นจากบ่วงกรรมทั้งหลายทั้งปวง”
  2. สร้างสถานการณ์ว่า ผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งหมายถึง ข้าราชการและเกษตรกร คือผู้ที่รับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร รับเงินจากบริษัทข้ามชาติ และการกล่าวหานี้ ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 20 ปี จนมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น
  3. เมื่อสร้างสถานการณ์ในเรื่องความเลวร้ายของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือกล่าวหาว่าผู้ไม่เห็นด้วย รับผลประโยชน์จากบริษัทฯ และจากต่างชาติ กลุ่มคนเหล่านี้ ได้สร้างกลไกในการขับเคลื่อน….
  4. กลไกในการขับเคลื่อน คือ การพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …. เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ เข้ามาเป็นคณะกรรมการ และผู้บริหารองค์กรที่จะเกิดขึ้นตาม พรบ. นี้ โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …. นี้ ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2550  แต่ถูกคัดค้านและมีการเดินขบวนจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น คือ (ศ. ดร. ธีระ สูตะบุตร) ไม่สามารถเสนอร่าง พรบ. ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีได้  11 ปีที่ผ่านไปจนถึงปี พ.ศ. 2561 กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ รวมทั้งเครือข่ายจึงได้ปลุก พรบ. นี้ ขึ้นมาอีก  ซึ่งร่าง พรบ. ในปี พ.ศ. 2550 และร่าง พรบ. ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มีความคล้ายคลึงมาก แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ กลุ่มบุคคล และเครือข่ายเหล่านี้ ต้องการเข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการ เป็นฐานอำนาจเหมือนกับ พรบ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของ NGO จนไม่สามารถบริหารงานได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจะนำเอาบทเรียนของ พรบ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มาเป็นบทเรียนที่ไม่ควรจะให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …. เกิดขึ้นอีก  กฎหมายของประทศไทย มีมากเกินไปแล้ว พอเสียทีเถอะครับ

ผมเป็นเด็กบ้านนอก ผูกพันกับวิถีชนบทและวิถีเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ผมเรียนเกษตร พี่น้องประกอบอาชีพการเกษตร (ปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกยางพารา) ผมและพี่น้องของผม มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีอิสระในรูปแบบการเกษตรที่ผมและพี่น้องเลือกปฏิบัติ ผมเชื่อว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งผมได้เคยสัมผัสกับเกษตรกรทั่วประเทศจำนวนไม่น้อย เกษตรกรเหล่านี้ คงคิดเหมือนผม คือ ขอความเป็นอิสระในการเลือกทางเดิน เลือกรูปแบบทางการเกษตรแบบที่เขาต้องการ เพียงแต่รัฐบาลช่วยเหลือในสิ่งที่เกษตรกรไม่สามารถทำได้ แต่เป็นพื้นฐานในการทำอาชีพการเกษตร คือ

  1. การจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และผู้เช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร
  2. จัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องพึ่งพาธรรมชาติ เจอปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  3. ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ กดราคา โกงน้ำหนัก โกงตาชั่ง หักสิ่งเจือปน หัก%ความชื้น หัก%แป้ง (มันสำปะหลัง) หัก%ความหวาน (อ้อย) หัก%น้ำมัน (ปาล์มน้ำมัน) เกินความเป็นจริง รวมทั้งปกป้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สามารถผลิตได้ในประเทศ
  4. ให้การศึกษา ให้ความรู้ในเรื่องการเกษตร ความเข้าใจในเรื่องเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย (GAP) หรือเกษตรเคมี เกษตรผสมผสาน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM: Integrated Pest Management) ซึ่งหากเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจแล้ว จะทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่า รูปแบบการผลิตควรจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรGAP เกษตรผสมผสาน ระหว่างอินทรีย์-เคมี หรือเกษตรเคมีล้วน ๆ ให้เป็นอิสระในการตัดสินใจที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบตนเอง

     โปรดอย่าดูถูก ดูหมิ่นภาคเกษตรและพี่น้องเกษตรกรไทย อย่ากล่าวหาอย่างที่เคยทำมาว่า ภาคเกษตรและเกษตรกรไทยเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมและต่อผู้บริโภคอย่างที่พวกคุณเคยกล่าวหามาตลอด ภาคเกษตรไทยไม่ได้ใช้สารเคมีมากที่สุดในโลก สินค้าเกษตรไทยไม่ได้อาบด้วยสารพิษอย่างที่คุณกล่าวหา แต่ภาคเกษตรไทยได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และพี่น้องคนไทยอย่างมากมาย

     ผลประโยชน์ของชาติเกิดขึ้นบทความทุกข์ยากของพี่น้องเกษตรกรไทย

     จงร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาให้เกษตรกรไทยอย่างเป็นระบบ และต้องให้พี่น้องเกษตรกรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของเขาด้วย

     เกษตรกร มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เหมือนพวกคุณ แต่ไม่มีโอกาสที่จะมาแสดงบทบาทอย่างที่พวกคุณกำลังทำต่อพวกเขาอย่างที่เคยทำมา และกำลังทำอยู่ในขณะนี้

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++