นโยบายเกษตร 4.0

 

“นโยบายเกษตร 4.0”

ปลูกมันสำปะหลัง ทดแทน ข้าวนาปรัง

เอาพื้นที่การเกษตรที่มีศักยภาพสูงสุด ไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อสุด

 

อนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

16 กรกฎาคม 2561

 

ผมได้ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์บางฉบับ ซึ่งได้รับการเปิดเผยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา  บุญราช) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 ว่า ท่านมีนโยบายที่จะลดพื้นที่การปลูกข้าวในเขตชลประทานที่เคยปลูกในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ลงมาประมาณ 2-3 ล้านไร่  โดยจะให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังทดแทน

การที่จะให้ปลูกมันสำปะหลังทดแทนการปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน จะเป็นความหายนะของระบบเกษตรในเขตชลประทาน ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรที่มีศักยภาพดีที่สุดของประเทศไทย  เพราะ

  1. มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ก่อให้เกิดปัญหาและลดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินมีสภาพเสื่อมโทรมมากที่สุดในระยะยาว ดังเช่น พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  2. มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะเป็นเกษตรกรผู้มีรายได้ต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ
  3. มันสำปะหลัง เป็นพืชที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวยาวที่สุด ประมาณ 10-14 เดือน เมื่อเทียบกับการปลูกพืชไร่ชนิดอื่น ๆ ทำให้พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานซึ่งสามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิดหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปตลอดทั้งปี เป็นระบบเกษตรที่ทำให้เกษตรกรมีงานทำทั้งปี มีรายได้อย่างต่อเนื่องต้องสูญเสียโอกาสไป
  4. พื้นที่ในเขตชลประทานเป็นพื้นที่ลุ่มในฤดูฝน จะมีน้ำขังที่หล่อเลี้ยงต้นข้าวในช่วงฤดูฝน การปลูกมันสำปะหลังที่มีอายุอยู่ในดินประมาณ 1 ปี ในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำขังอยู่ในพื้นที่ มันสำปะหลังจะเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
  5. พื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังในระยะยาว จะกลายเป็นพื้นที่ที่เสื่อมโทรม ไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิม ไม่สามารถปลูกพืชได้หลากหลายขนิด เป็นความหายนะที่ผู้รับเคราะห์ก็คือ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ในระยะยาว

ท่าน รมว. บอกว่า การปลูกข้าวโพดทดแทนข้าวนาปรังที่เคยให้เกษตรกร ไร่ละ 2,000 บาท  ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรรู้ว่าจะต้องประสบปัญหาใดบ้าง  ดังนั้น ในปี 2560/61 ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดในนา ประมาณ 2.5 ล้านไร่  แต่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ มีพื้นที่ไม่ถึง 2 แสนไร่

แทนที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะคิดแทนเกษตรกรให้เค้าปลูกพืชโน้น พืชนี้ตามที่ท่านคิด ท่านลองเปลี่ยนวิธีการ ลงไปถามเกษตรกรดูว่าแท้ที่จริงแล้ว เกษตรกรต้องการอะไร แล้วท่านควรนำเอาความต้องการของเกษตรกรมากำหนดเป็นนโยบาย กำหนดมาตรการ และวิธีการให้บรรลุผลตามความต้องการ

การที่ท่านคิดแทนเกษตรกร บังคับให้เกษตรกรทำอย่างที่ท่านคิด ท่านจะไม่มีวันทำสำเร็จได้เลย โปรดระลึกถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

 

**************************************************