ดูแลความมั่นคงอาหารให้ดี
ดูแลความมั่นคงอาหารให้ดี
ผลิตผลทางการเกษตรต่างจากสินค้าทั่วไป เพราะพ้นจากรูปวัตถุดิบแล้วจะแปรรูป ดัดแปลงเป็นอาหารหล่อเลี้ยงผู้คนโดยตรง อีกส่วนแม้ป้อนเป็นอาหารสัตว์ สุดท้ายก็ให้เกิดเนื้อสัตว์คืนกลับมาให้คนบริโภคอีกทอด
สินค้าเกษตร หรืออาหาร จึงมีความสำคัญ ทั้งในแง่ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ มีราคาเหมาะสม สามารถเข้าถึงได้ มีคุณภาพ และปลอดภัยในการบริโภค รวมเป็นองค์ประกอบของ ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security)
สำหรับประเทศไทยแล้ว ผลผลิตสินค้าเกษตรดูจะเหลือเฟือ จนส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ด้วย ปัญหาใหญ่ของการส่งออก มักอยู่ที่มีแมลงศัตรูพืชปนเปื้อน และค่าสารเคมีเกษตรตกค้างเกินมาตรฐานกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
สารเคมีเกษตร โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช จึงตกที่นั่งเป็นจำเลยสังคมทั้งในประเด็นการตกค้างในอาหาร และผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่งออก
การควบคุมและตรวจสอบสารเคมีเกษตร ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรเอกชน จึงเป็นไปอย่างเข้มข้น เข็มแข็ง ถึงกับรณรงค์ในระดับนโยบายผ่านยุทธศาสตร์ประเทศที่กำหนดให้ ลด ละ เลิก ใช้สารเคมีเกษตร พร้อมๆ กับการผลักดันการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นวาระแห่งชาติกันทีเดียว
การเข้มงวดกับสารเคมีเกษตรเป็นเรื่องดี แต่กับ อีกด้านหนึ่งสารอินทรีย์ไม่ว่าปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอินทรีย์ หรือชีวภาพ กลับอยู่ในสภาพไร้การควบคุมแทนสิ้นเชิง
กลายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือมีข้อปฏิบัติที่มากกว่ามาตรฐานเดียว (Dou-ble Standard) ทั้งที่สุดท้ายผลิตผลเหล่านี้คืออาหาร ที่ต้องสะอาด ปลอดภัยในการบริโภค ไม่ว่าจะโดยรูปแบบการผลิตใดก็ตาม
น่าประหลาดใจที่ปล่อยให้มีการผลิต และโฆษณาชวนเชื่อปัจจัยการผลิตอินทรีย์กันอย่างครึกโครม ทั้งในสื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อทีวีที่เยี่ยมเยียนถึงห้องนอนเกษตรกร โดยปราศจากการตรวจสอบจากหน่วยงานใดๆ เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อสารเคมีเกษตร
ที่ว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อ เพราะไม่มีการพิสูจน์หรือตรวจสอบ ทดสอบจากหน่วยงานรัฐใดๆ ถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพของสารอินทรีย์เหล่านี้ อีกทั้งไม่มีข้อกำกับใดๆ เหมือนกับการกำกับสารเคมีเกษตร เรียกว่าใครใคร่ผลิต-ผลิต ใครใคร่โฆษณา-โฆษณา ใครใคร่ขาย-ขาย
เปรียบเทียบกับสารเคมีเกษตร ล้วนต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเข็มงวด มีการทดสอบทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนาม ต้องทดสอบพิษวิทยาในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน GLP (Laboratory Practice) ที่ได้รับการรับรองจากกลุ่มประเทศ OECD เท่านั้น และมีข้อกำหนดในเรื่องสถานที่ผลิต จำหน่าย เก็บสต็อก และต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลกว่าจะวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละรายการ
เทียบกันแล้ว ต่างกันราวฟ้ากับดิน
การละเลยควบคุมปัจจัยการผลิตอินทรีย์นี้ จะสร้างปัญหาใหม่หลวงให้ภาคการเกษตรไทย เริ่มจากโฆษณาเกินจริง ใช้แล้วไม่ได้ผล เสียทั้งเงินและโอกาสกว่าจะเผชิญความจริงก็ต่อเมื่อส่งออกผลผลิตอินทรีย์ไปยังต่างประเทศไม่ได้
กลายเป็นผลร้ายกระทบความมั่นคงด้านอาหารโดยไม่รู้ตัว