คุ้มครองเกษตรกรด้วย

 

คุ้มครองเกษตรกรด้วย

        ลำพังอาชีพเกษตรกรมีความเสี่ยงสูงในตัวมากพออยู่แล้ว ทั้งจากภัยธรรมชาติ นับตั้งแต่น้ำท่วม ฝนแล้ง การระบายของโรคและแมลงศัตรูพืช ไปจนถึงระดับราคาผลผลิตที่เคลื่อนไหวขึ้นลงไม่แน่นอน

ความเสี่ยงล่าสุดที่กำลังเป็นภัยคุกคามเกษตรกร คือการใช้สารธรรมชาติกำจัดศัตรูที่รู้จักกันดีในนามสารชีวภาพ (Bio-pesticides) ทั้งหลาย

ด้านหนึ่ง เป็นความพยายามสร้างกระแสความรู้สึกปลอดภัยในการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตร และอาหารในนามเกษตรอินทรีย์ อีกด้านหนึ่ง กลับเปิดช่องให้บุคคลบางกลุ่มตักตวงความร่ำรวยโดยง่ายดายจากการค้าสารชีวภาพดังกล่าว

สารชีวภาพที่ว่า มีการโฆษณาคุณภาพ ประสิทธิผลกันอย่างเอิกเกริกในทุกสื่อที่เข้าถึงเกษตรกร อาจมีที่เป็นความจริงบ้าง และมีจำนวนไม่น้อยที่โฆษณาเกินจริง เป็นปาฏิหาริย์กลายๆ

สารบางตัวใช้สารอินทรีย์ผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยซ้ำ แล้วโฆษณาเป็นสารมหัศจรรย์กำจัดศัตรูพืช บางตัวโฆษณาเป็นฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช แต่ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งที่ผิดกฎหมายด้วยกันที่น่ากังวล สารชีวภาพมีการโฆษณาขายผ่านระบบขายตรง ทำให้ติดตามตรวจสอบยากขึ้นไปอีก พอๆ กับการดูแลผลประโยชน์ให้เกษตรกร

กระนั้นผลของการโฆษณา ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อย หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อคำลวง ตัดสินใจซื่อใช้ สร้างผลกำไรให้ผู้ค้าเป็นกอบเป็นกำ เป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงโหมโฆษณาในสื่อต่างๆ อย่างครึกโครม ทำนองน้ำขึ้นให้รีบตัก ในทางตรงข้าม ไม่มีใครรู้ว่าเกษตรกรได้หรือเสียประโยชน์แค่ไหน มากน้อยเพียงใด

น่าเสียดายที่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ มิได้ตระหนักถึงภัยร้ายดังกล่าวกลับปล่อยให้เกิดสภาพ “การค้าเสรี” สำหรับสารชีวภาพ โดยปราศจากมาตรการควบคุมกำกับ และตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น ต่างจากมาตรฐานที่ใช้กับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างลิบลับ ทั้งที่การผลิตและใช้ก็มุ่งหวังผลเดียวกัน คือการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าวัชพืช แมลง หรือโรคพืชอย่างคุ้มค่า

การใช้สารชีวภาพที่ปราศจากการทดสอบพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นอกจากเสียเงินซื้อใช้โดยไม่อาจกำจัดศัตรูพืชได้แล้ว ยังถูกศัตรูพืชเล่นงานจนผลผลิตเสียหายเป็นการซ้ำเติมความยากจนให้เกษตรกรหนักมือยิ่งขึ้น

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความคุ้มค่าในการใช้สารใดๆ จะต้องเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างต้นทุน (Cost) กับผลประโยชน์ที่ได้รับ (Benefit) หรือ Cost Benefit Ratio ถ้าต้นทุนสูง ได้รับผลประโยชน์น้อย ย่อมไม่คุ้มค่าที่จะใช้ ตรงข้าม หากได้รับผลประโยชน์มากกว่าต้นทุนหลายเท่า ย่อมคุ้มค่าสำหรับใช้

สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยังมีสัดส่วนความเสี่ยง (Risk) กับผลประโยชน์ (Benefit) หรือ Risk Benefit Ratio เปรียบเทียบค่ากัน ถ้าความเสี่ยงสูง ผลประโยชน์ตอบแทนต่ำก็ต้องเลิกใช้ ตรงข้าม ผลประโยชน์ ความเสี่ยงต่ำ จึงพิจารณาใช้

เศรษฐศาสตร์ความคุ้มค่าเหล่านี้ ไม่อาจใช้ได้กับสารชีวภาพทั้งหลายเพราะจนบัดนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ทดสอบความคุ้มค่าระหว่างต้นทุน หรือความเสี่ยงกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากหน่วยงานที่รับผิดชอบประการใด

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค น่าจะลองเอื้อมมือตรวจสอบสารชีวภาพที่ว่า เพื่อคุ้มครองเกษตรกร ทั้งที่สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้

เกษตรกร กระดูกสันหลังของชาติล่มสลายเมื่อใด ประเทศไทยก็ยากจะพัฒนาเดินหน้าไปเมื่อนั้น