ตลาดเคมีเกษตรโลก

 

ตลาดเคมีเกษตรโลก

          ประมาณกันว่าใน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556-2560) ตลาดสารเคมีเกษตรของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของประเทศไทยเกือบ 1 เท่าตัว

เหตุผลง่ายๆ ตรงไปตรงมา เพราะความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ สวนทางกับพื้นที่การเกษตรที่หดตัวลดลง

ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น นัยแรก เกิดจากจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น คนเพิ่มขึ้นก็ต้องกินมากขึ้น

นัยที่สอง มีการพูดถึงคุณภาพอาหารที่ดีขึ้น เพราะว่า ชาติยักษ์ใหญ่กำลังพัฒนา และมีจำนวนประชากรมากอย่าง จีน อินเดีย บราซิล เป็นต้น มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีคนรวยเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องการอาหารที่ดี และคุณภาพมากขึ้น ต่างกับประชากรฐานะยากจน คุณภาพอาหารไม่สำคัญเท่ากับมีอาหารให้กินครบมื้อ

เมื่อพื้นที่การเกษตรลดลง อันเนื่องมาจากขยายตัวของเมืองมากขึ้นและเกษตรกรแห่งเข้าไปอยู่ในเมืองแทนทำการเกษตรอย่างเก่า แต่ความต้องการอาหารยังคงเพิ่มเอาๆ นี้แหละคือเหตุผลว่า ทำไมสารเคมีเกษตรถึงมีความต้องการใช้มากขึ้น และมีอัตราการเติบโตโดยตลอด แม้จะเผชิญกระแสสังคมที่รังเกียจรังงอนว่า เป็นสารพิษ เป็นอันตรายต่อการเกษตรกร และผู้บริโภค

ไม่มีใครปฏิเสธว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่เป็นพิษและไม่เป็นอันตรายหากตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า หากรู้จัก และใช้อย่างเหมาะสม ถูกวิธี มันเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพในการจัดการกับศัตรูพืชได้ดี และปลอดภัยกับเกษตรกรและผู้บริโภคตรงข้าม ไม่รู้จักมัน แถมใช้ไม่เป็น ใช้ผิดวิธีผิดวัตถุประสงค์ มันก็คือยาพิษดีๆ นี่เอง

แล้วอย่าลืมความจริงที่ว่า สารกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าวัชพืช แมลง และโรคพืช ช่วยให้พืชรอดพ้นจากการทำลายล้างของศัตรูพืช เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอารักขา นอกจากช่วยปกป้องผลผลิตแล้ว ยังช่วยทำให้ผลผลิตนั้นได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่สารอื่นใดจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้

บริษัทวิจัยด้านการตลาด วิเคราะห์ว่า จีน อินเดีย อาร์เจนตินา และบราซิล จะเป็นประเทศหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเคมีเกษตรเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปี ดังกล่าว สำหรับประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศจีน และไทย จะเป็นแหล่งเพิ่มผลผลิตการเกษตรอย่างสำคัญ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมเคมีเกษตรเติบโตด้วย

สำหรับประเทศไทย ปริมาณการใช้โดยรวมไม่น่าลดลง ยิ่งสินค้าอาหารเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ ความจำเป็นใช้สารเคมีเกษตรก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพียงแต่อาจปรับสัดส่วนระหว่าง 3 กลุ่ม คือสารกำจัดวัชพืช (Herbicide) สารกำจัดแมลง (Insecticide) และสารกำจัดโรคพืช (Fungicide) ให้สมดุลและเหมาะสมขึ้น เช่น สารกำจัดวัชพืช อาจลดสัดส่วนลงจากระดับสูงสุด 70% เนื่องจากพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันขยายตัวน้อยลง และเมื่อต้นยางและต้นปาล์มเติบโตเป็นร่มเงาคลุมพื้นที่ข้างล่าง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช

ขณะเดียวกับการใช้สารกำจัดโรคพืชมีโอกาสเติบโตใหญ่ขึ้น หากเกษตรกร เรียนรู้โรคพืช และใช้วิธีป้องกันแต่เนิ่นๆ มากกว่ารักษาเมื่อโรคลุกลามแล้ว โดยเฉพาะในข้าวที่ปลูกในพื้นที่มากที่สุด และมีความถี่สูง 2-3 ครั้ง/ปี

นี่คือภาพอนาคตของประเทศไทย