เมื่ออาหารโลกสั่นสะเทือน

 

เมื่ออาหารโลกสั่นสะเทือน

        การใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ หรือบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้นๆ

การเกษตรของประเทศไทยในอดีตเป็นการเกษตรแผนเก่า พื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ใหญ่โตนัก และกระจัดกระจาย ผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ปัญหาศัตรูพืชไม่รุนแรงมาก ใช้วิธีป้องกันกำจัดง่ายๆ เช่น การกำจัดวัชพืช ก็ใช้แรงงานคนดายหญ้า การกำจัดแมลง และโรคพืชใช้ทั้งสารอินทรีย์ และอนินทรีย์ในธรรมชาติ เช่น สารกำมะถัน สารละลายจากใบยาสูบ โล่ติ๊น การใช้กับดัก ใช้มือเก็บแมลงตลอดจนใช้แมลงเบียน และแมลงห้ำในธรรมชาติ

เมื่อยกระดับจากเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเอง มาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมแผนใหม่เต็มตัว มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างกว้างขวาง มีระบบน้ำชลประทานสนับสนุน ใช้พื้นที่ทำการเกษตรตลอดเวลา เพื่อผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ และตอบสนองต่อการส่งออก นั้นเองทำให้สารเคมีสังเคราะห์หรือสารเคมีเกษตร เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ เพราะสามารถหาได้ง่าย ใช้สะดวก ประสิทธิภาพสูง และให้ผลรวดเร็ว จนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญและจำเป็น

อินเดีย ซึ่งเผชิญปัญหาผลผลิตอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการพบว่า ผลผลิตข้าว 93 ล้านตัน/ปี ต้องสูญเสียไป 31 ล้านตัน หรือ 25% จากการทำลายโดยแมลงศัตรูข้าว ทำให้อินเดียต้องเน้นใช้สารเคมีเกษตรในนาข้าวและไร่ฝ้าย จนสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันอินเดียได้กลายเป็นคู่แข่งข้าวไทยในตลาดโลกไปแล้ว

จีน ไม่ต่างจากอินเดีย แต่หนักกว่าตรงที่ใช้สารเคมีเกษตรมากที่สุดในโลกเพราะจีนรู้ดีว่าความมั่นคงด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญ และจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรซึ่งมีรายได้ต่ำในสังคมเศรษฐกิจของจีน รูปแบบการเกษตรจึงเข้มข้นและใช้สารเคมีเกษตรมากขึ้น จนต้องหันมาใส่ใจเรื่องความปลอดภัยอันเนื่องมาจากการใช้มากเกินไป และใช้ไม่ถูกวิธี

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของมหาวิยาลัยวาเกนนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทำการศึกษา ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผลผลิตข้าวในนาเขตน้ำฝนใน ชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย พบว่านอกจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ ความสมบูรณ์ของธาตุอาหารใน ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง คือการทำลายข้าวจากหนอนกอ และโรคเชื้อรา เช่น ใบจุดสีน้ำตาล และใบขีดสีน้ำตาล ซึ่ง ทำลายข้าวเสียหายมากถึง 56-59% ของผลผลิตรวม

ประเทศไทย แม้ได้ชื่อเป็นครัวโลก กลับไม่ค่อยมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับการสูญเสียผลผลิตจากการทำลายของศัตรูพืช ทั้งที่อยู่ในเขตร้อนชื้น เหมาะแก่การเพาะขยายตัวของศัตรูพืชมากมาย ทั้งแมลง เชื้อรา และวัชพืช ความเสียหายของผลผลิตน่าจะมีมาก

ศาสตราจารย์ดร. เอช. ไวเบล (Professor Dr. H. Waibel) อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรของ GTZ ของรัฐบาลเยอรมณี ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในโครงการการป้องกัน และกำจัดศัตรูข้าวแบบผสมผสานของกรมส่งเสริมการเกษตรของไทย ได้ศึกษาและรายงานไว้ในบทวิจัยของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) โดยประเมินว่า ประเทศไทยสูญเสียผลผลิตข้าวจากการทำลายของศัตรูพืชประมาณ 50% ของผลผลิตรวม ตัวเลขนี้สูงมากจนน่าตกใจ และสูงกว่าจีนที่สูญเสีย 42%

นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมทุกประเทศในโลกนี้ จึงต้องใช้สารเคมีเกษตรในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช