ความเชื่อ VS ความจริง

 

ความเชื่อ VS ความจริง

          คอลัมน์เล็กๆ เรื่องยกเครื่อง เรื่องเกษตร โดยฝ่ายวิชาการ สมาคมไทยธุรกิจเกษตรจากมติชน (20 ก.ย. 55) มีประเด็นเรื่องการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ขึ้นมาตั้งคำถามให้กับสังคมการเกษตรไทยได้อย่างน่าสนใจมาก

บทความสั้นๆ นี้ได้เริ่มว่า…ประเทศไทยใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากจนถูกทำให้เกิดความเชื่อ (Myth) ว่า “ใช้มากที่สุดในโลก” จริงหรือ…? โดยบทความนี้ได้ให้…ความจริง (Truth) ของการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเชิงเปรียบเทียบกับหลายประเทศ พบว่า สหรัฐใช้มากที่สุด จีนจากอันดับ 6 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และญี่ปุ่นเคยเป็นอันดับ 2 รั้งมาอยู่อันดับ 3 ของโลก

ในช่วง 9 เดือนของปี 2554/2555 (ตุลาคม 2554-มิถุนายน 2555) ญี่ปุ่นมีปริมาณการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากกว่าไทยกว่า 1 เท่าตัว (137,313 ตัน/ปี และ70,000 ตัน/ปี) ทั้งๆ ที่พื้นที่การเกษตรไทยใหญ่กว่าญี่ปุ่นประมาณ 2 เท่า

นาข้าวญี่ปุ่นอย่างเดียวใช้สารเกือบครึ่งของการใช้สารทั้งหมด (เทียบกับใช้สารในแปลงผักและสวนผลไม้ : 59,708 ตัน 62,469 ตัน และ 17,494)

ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบนี้ชวนให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า

ทำไม รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เห็นพิษภัยของสารกำจัดศัตรูพืชหรือ?

ทำไม คนญี่ปุ่นไม่กลัวตายจากสารกำจัดศัตรูพืชหรือ?

ทำไม การเกษตรญี่ปุ่นจึงเพียงพอกับประชากรกว่า 2 เท่าของไทย ทั้งๆ ที่พื้นที่น้อยกว่ามาก?

ทำไม ญี่ปุ่นถึงจัดเป็นประเทศที่คนมีสุขภาพดีชาติหนึ่งของโลก?

ทำไม ญี่ปุ่นมีภูมิทัศน์สวยงาม สะอาด ทั้งๆ ที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชมาก?

คำถาม 4-5 ข้อดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่เรื่อง…ความเชื่อแบผิดๆ หรือ “หลงประเด็น” เกี่ยวกับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในเมืองไทยกันมากน้อยแค่ไหน? โดยบทความนี้ได้ตั้งคำถามว่า การที่ประเทศไทยแสดงท่าทีรังเกียจ และมีทัศนคติด้านลบต่อสาร…ถึงขั้นกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติให้เลิกใช้ และจูงใจให้เกษตรกรหันไปใช้สารอินทรีย์หรือชีวภาพแทน ทั้งๆ ที่น่าจะเป็น “ทางเลือก” หนึ่งมากกว่า

ความจริงแล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการกำหนดมาตรฐานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานสารอินทรีย์ชีวภาพพร้อมกัน

เพื่อให้เป็น “ทางเลือก” ที่สมบูรณ์และไม่หลงประเด็นความปลอดภัย

การสร้างความเชื่อมั่นและมีวินัยในการใช้โดยไม่บิดพลิ้ว หลีกเลี่ยงโดยภาครัฐมีความใส่ใจกับการตรวจสอบและควบคุมการใช้อย่างจริงจัง มีข้อกำหนดเคร่งครัดในการตรวจสอบควบคุม ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ ผู้ประกอบการกลางน้ำ ได้แก่ ร้าค้าปลีก และปลายน้ำ ได้แก่ เกษตรกร อย่างเสมอหน้า กลไก ที่ประเทศพัฒนาแล้วเช่นนี้ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการใช้และความปลอดภัยในอาหารอย่างแท้จริง

ในทางตรงข้าม ประเทศไทยยังอ่อนแอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเสมอภาคในทุกระดับชั้น ความปลอดภัยทั้งปวงจึงเป็นเรื่องน่าห่วงกันมาโดยตลอด

ประการสำคัญ คือ ฐานความรู้ของนักวิชาการเกษตรภาครัฐและภาคเอกชน…ดูจะแตกต่างอย่างมากสำหรับไทย…!

ประเทศไทยที่ชอบอวดอ้างว่า…เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติและเป็นครัวของโลก จึงเป็นความพิสดารยิ่ง…ที่บทความนี้ได้ทิ้งท้ายไว้

ความเชื่อแบบสุดโต่งเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยการละเลยความจริง แถมยังใช้ความ “สุดโต่ง” แบบนี้ “ปลุกระดม” ให้สังคมไทย “หลงประเด็น” จึงน่าที่เราควรจะได้มีการทบทวนกันบ้างแล้วหรือยัง!

หรือเรายังจะให้ความเชื่อดังกล่าวมาเป็นตัวขึ้นนำการพัฒนาการเกษตรไทยต่อไปเรื่อยๆ โดยความจริงก็ยังจะเป็นเพียงแค่เสียงนกเสียงกา เช่น บทความเล็กๆ ที่ (ยังพอมี) จากสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เท่านั้น

ขอขอบคุณ…มติชน ที่ยังเปิดโอกาสให้ผมได้อ่านบทความดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นบทความเล็กๆ ตัวหนังสือเล็กๆ ที่เกือบจะมองข้ามไป ขอบคุณจริงๆ