ความจริงของครัวโลก

 

ความจริงของครัวโลก

        ครัวโลกสำหรับประเทศไทย คือคำอธิบายว่า การเกษตรไทยได้ข้ามพ้นการเกษตรดั้งเดิมที่ผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ไปสู่การเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อมุ่งขายโดยตรง

การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม เปิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง พร้อมกับลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน ต้องใช้ผืนดินตลอดเวลา เพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการระบายของโรคและแมลงศัตรูพืช นอกเหนือจากสภาพภูมิประเทศในเขตร้อนชื้น เป็นใจอยู่แล้ว

ไม่ว่าอยากใช้หรือไม่อยากใช้สารเคมีก็ตาม ด้วยความจำเป็นเช่นที่ว่านี้ประเทศไทยจึงไม่อาจเลี่ยงใช้สารเคมีเกษตรได้เลย เหลือแต่จะใช้อย่างไรให้เหมาะสม ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

คำขวัญที่รณรงค์ให้เกษตรกรไทย “ลด ละ เลิก ใช้สารเคมีเกษตร” ของรัฐบาลหลายๆ ยุค จึงสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของประเทศอย่างไม่รู้ตัว เมื่อวางยุทธศาสตร์ผิด สิ่งที่ตามมาก็พลอยพลาดไปด้วย

เพราะถ้าเลิกการใช้สารเคมีเกษตรถูกต้องเหมาะสม นอกจากตอบโจทย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพิ่มผลผลิต รักษาคุณภาพผลผลิต และปลอดภัยต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกโสดหนึ่งด้วย เติมเต็มคำว่า “ครัวโลก” ของประเทศไทยให้สมบูรณ์อย่างแท้จริง

น่าฉงนตรงที่กลับไม่มีหน่วยงานใดสนใจและดำเนินการเรื่องนี้อย่างชนิดกัดไม่ปล่อย ซึ่งจะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ประเทศและเกษตรกรอย่างมหาศาล

ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีเกษตรในอัตราคงที่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2550-2554) เฉลี่ยปีละเกือบ 70,000 ตัน แต่กระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 87,780 ตัน คิดเป็น 20% เมื่อปี 2554 เนื่องจากปรากฏการณ์โละทะเบียนเก่า ขึ้นทะเบียนใหม่

ถึงกระนั้นไทยก็หาได้เป็นประเทศที่ใช้สารเคมีระดับต้นๆ ของโลก ว่ากันถึงที่สุดอยู่ในเกณฑ์น้อยไปด้วยซ้ำ เพียงแต่ประสบปัญหาการใช้ไม่ถูกต้อง พร่ำเพรื่อไร้ประสิทธิภาพ และทำให้ต้นทุนสูงโดยใช้เหตุ

สารกำจัดวัชพืช มีสัดส่วนมากที่สุดหว่า 70% สารกำจัดแมลง 13-15% สารกำจัดโรคพืช 7-10%  นอกนั้นเป็นสารอย่างอื่น

การที่สารกำจัดวัชพืชมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด เนื่องจากปัญหาต้นทุนการผลิต เดิมใช้แรงงานคน ต่อเมื่อแรงงานขาดแคลน บวกกับค่าแรงที่สูงขึ้นและการขยายพื้นที่ปลูก จึงเป็นแรงผลักให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืชแทนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และพืชสวนอย่างยางพารา

สารกำจัดวัชพืชโดยส่วนใหญ่สลายตัวเร็ว ในขณะสารกำจัดโรคพืช เช่น เชื้อรา ไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก เหลือแต่สารกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีฤทธิ์แรงและมีความหลากหลายสูง ผู้ผลิตสารเคมีเกษตรเองพยายามผลิตสินค้าที่เน้นความปลอดภัยมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะตระหนักดีถึงแรงด้าน และมายาคติในสังคมโลก

แต่กระนั้น สารกำจัดแมลงศัตรูพืชก็มีข้อดีไม่น้อย ตราบใดที่ยังไม่มีวิธีอื่นใดใช้ทดแทนได้ดีเท่า

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อสารเคมีเกษตรมีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์คู่กัน จำเป็นต้องศึกษา ทำความรู้จักมันอย่างถ่องแท้ จึงจะบังเกิดคุณูปการแทนที่จะจมอยู่กับโรคหวาดระแวงสารเคมี (Chemo Phobia) เพียงอย่างเดียว