การท่องเที่ยวเมืองรอง
การท่องเที่ยวเมืองรอง
นายอนันต์ ดาโลดม
นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย
วันที่ 7 สิงหาคม 2561
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ในปี พ.ศ. 2561/62 ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้าน ๆ บาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายของประเทศ ในปี พ.ศ. 2562
การท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ นับเป็นการกระจายรายได้จากภายนอกเข้าสู่ประเทศและกระจายไปสู่แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดที่ไม่ต้องมีการลงทุนมากนัก
ที่ตั้งของประเทศไทย ถือว่าเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางบก ทางน้ำ และภูเขา รวมทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน จนเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลก
รวมทั้งการส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งถือว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง สังเกตได้จากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทย สถานที่พัก ร้านอาหาร เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นช่วง Low Season และ High Season ก็ตาม
สำหรับชาวต่างประเทศ แหล่งท่องเที่ยวของไทยเป็นที่รู้จัก นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ในภูมิภาคเช่น ในภาคตะวันออก ได้แก่ เมืองพัทยา จ. ชลบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และแหล่งท่องเที่ยวใหม่คือ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, จังหวัดกาญจนบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ ได้แก่ เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี, จ. ภูเก็ต, จ. พังงา, จ. กระบี่ และ อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา (นักท่องเที่ยวมาจากประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์) ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ รัฐบาลแทบจะไม่ต้องทำการประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพียงแต่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย การบริการ ล้างพวกมาเฟียท่องเที่ยว ไปเอารัดเอาเปรียบ นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ
แต่ท่านแปลกใจหรือไม่ว่า ทำไมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ แหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้รู้จักมากที่สุดมีเพียงแห่งเดียว คือ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา
การท่องเที่ยวเมืองรองเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งความจริงแหล่งท่องเที่ยวเมืองเหล่านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะเน้นที่ไหนบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่ใคร่ขอฝากไว้ให้รัฐบาลได้พิจารณาในแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง คือ เมื่อมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้ว นอกจากการประชาสัมพันธ์ การทำ Road Show ซึ่งเป็นเรื่องที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดทำมากที่สุด แต่จะละเลยต่อสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ คือ
- ถนนหนทางที่จะอำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมาของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะถนนเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านต่อตำบล ระหว่างตำบลต่ออำเภอ และจากอำเภอไปสู่ถนนสายหลัก รัฐบาลชุดนี้ ได้ลงทุนเรื่องการคมนาคมอย่างมหาศาล เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างรถไฟรางคู่ สร้างระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ สายสีต่าง ๆ สร้างถนนจากเมืองสู่เมือง สร้างระบบ Logistic ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ละเลยเส้นทางคมนาคมในชนบท ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยว ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือน ถนนในชนบทส่วนใหญ่ เป็นถนนลูกรัง ถนนลาดยางผิวบางที่ไม่ให้มาตรฐาน ชำรุดทรุดโทรมเกือบทั้งประเทศ สภาพของถนนในชนบทเป็นอุปสรรคในการเดินทางของนักท่องเที่ยว และเป็นเงื่อนไขในการที่นักท่องเที่ยวจะไม่เดินทางไปในพื้นที่ที่ถนนเป็นฝุ่นในหน้าแล้ง เฉอะแฉะในหน้าฝน
- ไฟฟ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไฟฟ้าในชนบทยังเข้าไปไม่ถึงในหลายหมู่บ้าน หรือในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึงจะมีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าไม่เสถียร ไฟตก ดับบ่อย เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐ
- แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่ออุปโภค-บริโภค เป็นสิ่งที่ขาดแคลน นอกจากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่จะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายจากความแห้งแล้งแล้ว แม้แต่น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เช่น น้ำประปาก็ยังเข้าไปไม่ถึงทุกหมู่บ้าน หรือที่เข้าไปถึงแล้วหลายแห่งที่มีการก่อสร้าง โดย อบต. ไม่สามารถใช้การได้ น้ำประปาไม่มีคุณภาพ ฯลฯ
โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เป็นอุปสรรคต่อนโยบายของโครงการประชารัฐรักสามัคคี “การท่องเที่ยวโดยชุมชน”
รัฐบาลลองพิจารณาจัดงบประมาณสัก 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นเงินเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ท่านใช้ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้แก่ผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่
การท่องเที่ยวเมืองรอง คือ การท่องเที่ยวในชนบท นโยบายดี แต่มาตรการไม่มี ยกเว้นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
<………………………………………………………………………>