ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

นายอนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

วันที่ 1 สิงหาคม 2561

 

                ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือช่องว่างระหว่างรายได้ ระหว่างคนจนกับคนรวย จากรายงานของ Oxfam จัดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ไทยได้เลื่อนตำแหน่งล่าสุดขึ้นเป็นเลวอันดันสามของโลก (ที่มาจากFacecook: นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล วันที่ 8 พฤกษาคม 2561)

 

                ผู้ว่าฯ แบงชาติ ชี้ไทยละเลย 4 ปัญหาสำคัญ “ความเหลื่อมล้ำ-ผลิตภาพแรงงานลดลง-สิ่งแวดล้อม-คอร์รัปชั่น” หนุนภาคการเงินเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แนะเดินหน้าธุรกิจบนหลักคิดเรื่องความยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ปัญหาส่วนรวมพาเดินหน้าสู่สังคมที่ดีขึ้น”

 

                ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าจะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและกระจายตัวดีขึ้น และภาครัฐเองก็มีมาตรการหลายเรื่องเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้มีรายได้น้อย แต่ไทยยังคงติดอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยที่สุด 1% ของประเทศ เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าคนอีกครึ่งของทั้งประเทศรวมกัน (ที่มา: นสพ. ไทยโพสต์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2561)

 

                รายงานสภาพัฒน์ฯ ระบุถึง “ภาคเกษตร” ว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรโดยรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.3 ตามการลดลงของราคาสินค้าบางรายการ หมายความว่า ระดับราคาของสินค้าเกษตรโดยภาพรวมลดลง – 12.3% ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ (1) ยางพารา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากและสต๊อกยางพาราในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูง (2) ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากและสต๊อกปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง และ (3) สุกร เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้บริโภค การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 4.3 หมายความว่า รายได้โดยรวมของเกษตรกรไทยลดลง – 4.8% นี่คือข้อมูลจากรายงานของสภาพัฒน์ฯ เอง (ขอคิดด้วยคน โดย ดร. เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง วันที่ 28 พฤกษาคม 2561)

 

                จากข้อมูลที่ได้หยิบยกจากบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน น่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลในยุค คสช. ควรจะต้องนำไปพิจารณาอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในภาคการเกษตร

 

                หากจะกล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองถึงเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนกับคนรวย แต่แท้ที่จริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำนั้น ยังหมายถึง สภาพแวดล้อม สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของประชาชนทุกระดับ

 

                ภาคเกษตรซึ่งประกอบด้วยเกษตรกรส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในชนบท นอกจากเรื่องของการกระจายรายได้ การถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดราคาผลิตผลทางการเกษตร ยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลงศัตรูพืช ชีวิตคนในชนบทยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และสวัสดิภาพตามที่ควรจะเป็น

                อาทิ ถนนหนทางที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านต่อตำบล ระหว่างตำบลต่ออำเภอ ระหว่างอำเภอถึงเมืองและถนนสายหลัก ส่วนใหญ่ยังเป็นถนนลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นปัญหาและอุปสรรคที่การสัญจรไปมา ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ยวดยานพาหนะ หน้าแล้งมีฝุ่นฟุ้งกระจาย หน้าฝนถนนเฉอะแฉะ ถึงแม้บางแห่ง บางหมู่บ้าน บางตำบลจะมีถนนลาดยางบ้าง แต่ก็มีคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน ใช้งานได้เพียงปีสองปีก็ชำรุดทรุดโทรม ซ่อมแล้วซ่อมอีก ซึ่งภาพเหล่านี้ ปรากฏให้เห็นทุกวันจากสื่อมวลชน โดยเฉพาะทางสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน หรือผู้สื่อข่าวไปเสาะแสวงหาข่าวเอง

 

                ในขณะที่รัฐบาลในยุค คสช. โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ที่นำโดยนายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ใช้งบประมาณมหาศาลในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ สายสีต่าง ๆ จนจำไม่ได้ รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 อนุมัติให้สร้างรถไฟรางคู่ จากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ – เชียงราย – อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใช้งบประมาณถึง 85,300 ล้านบาท รวมงบประมาณในการสร้างถนนสายหลัก  รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า น่าจะเป็นจำนวนนับล้าน ๆ บาท แต่ในขณะเดียวกัน ท่านทอดทิ้งถนนในชนบท ซึ่งคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่รอบล้อมด้วยมลพิษจากฝุ่น มีความไม่ปลอดภัยในการสัญจรไปมา เพราะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ประกอบด้วยผู้มีฐานะ ไม่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบท ไม่เข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของชาวบ้าน ไฟฟ้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ปรากฏว่า ไฟฟ้าในชนบทยังเข้าไปไม่ถึงในหลายหมู่บ้าน หรือในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึงจะมีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าไม่เสถียร ไฟตก ดับบ่อย เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่ออุปโภค-บริโภค เป็นสิ่งที่ขาดแคลน นอกจากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่จะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายจากความแห้งแล้งแล้ว แม้แต่น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เช่น น้ำประปาก็ยังเข้าไปไม่ถึงทุกหมู่บ้าน หรือที่เข้าไปถึงแล้วหลายแห่งที่มีการก่อสร้าง โดย อบต. ไม่สามารถใช้การได้ น้ำประปาไม่มีคุณภาพ ฯลฯ

 

                ผมได้ฟังที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา) เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการและเรียกร้องมากที่สุด คือ แหล่งน้ำ และถนน ซึ่งจากที่ท่านได้รับทราบความต้องการของชาวบ้าน รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการในการลงทุนในเรื่องแหล่งน้ำ และถนนในชนบทให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน และทุกตำบลในประเทศไทย ไม่ว่าจะห่างไกลเท่าใด

 

                ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย จึงไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างรายได้ของคนในชนบทกับคนรวย แต่ความเหลื่อมล้ำนั้น ยังรวมถึงสภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ที่ยังแตกต่างกันมากมายระหว่างเมืองและชนบท

 

<………………………………………………………………………>