วิกฤติภาคเกษตรไทย

วิกฤติภาคเกษตรไทย

อนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

23 กุมภาพันธ์ 2559

ตั้งแต่คณะ คสช. ได้เข้ามาบริหารประเทศ หลังจากการเข้ายึดอำนาจโดยการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้การสนับสนุน คสช. และรัฐบาลที่ได้มีการแต่งตั้งโดย คสช. ในการเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งในระยะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาที่เป็นวิกฤติของประเทศก่อนหน้าที่จะมีการยึดอำนาจได้มากมายหลายประการ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ปราศจากการเดินขบวนหรือการปะทะกันจากความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองต่างๆ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาทางด้านการบิน ปัญหาด้านการประมง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่หมักหมมมาช้านาน

แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในยุคของ คสช. ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน ด้อยการศึกษา ด้อยโอกาส มีชีวิตอยู่ในชนบท ต้องทำงานอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก ซึ่งก็คือ พี่น้องเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ซึ่งนับว่าเป็นโชคที่ไม่ดีของภาคการเกษตรในยุค คสช. เพราะประสบทั้งปัญหาราคาพืชผลเศรษฐกิจหลักตกต่ำพร้อมๆ กันเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และวิกฤติความแห้งแล้ง ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูก มีผลกระทบต่อการลดผลผลิตต่อไร่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการเกษตรไทย เท่าที่ผมเคยมีประสบการณ์ทำงานในภาคเกษตรมามากกว่า 40 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหากระทบต่อราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ของประเทศไทย ที่พึ่งพาการส่งออกถึง 70% บวกกับปัญหาอันเกิดจากภัยธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม เพราะเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่หากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดผิดพลาดจะยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมให้ภาคการเกษตรตกอยู่ในสภาพวิกฤติยิ่งขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดจากนโยบายดังกล่าว

ผมกำลังจะพูดถึงนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 โดยพลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า โดยเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิมมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 10 ล้านไร่ มีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตัน เป็น 16 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณผลผลิตกว่า 180 ล้านตัน พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจาก 8 ล้านไร่ เป็น 8.5 ล้านไร่, เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด จาก 7 ล้านไร่ เป็น 7.4 ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จาก 4.5 ล้านไร่ เป็น 7.5 ล้านไร่ ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความเรื่อง “กระทรวงพาณิชย์ : กำลังปฏิรูปโครงสร้างการผลิตการเกษตร” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 คัดค้านนโยบายนี้มาแล้ว

ผมเชื่อว่า การเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 พืชดังกล่าว ต้องเกิดจากการผลักดันของภาคเอกชน จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกที่ประกอบด้วยเจ้าของโรงงานน้ำตาลอ้อย โรงงานอาหารสัตว์ เจ้าของลานมันและโรงงานมันเส้น แป้งมันสำประหลัง โรงงานสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์ม ซึ่งต้องการให้มีวัตถุดิบเยอะและราคาถูก

เมื่อ พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านก็ได้ผลักดันนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง และทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่จะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ

การที่คณะอนุกรรมการดังกล่าว ได้เสนอนโยบายให้เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก แต่ไม่ได้พูดถึงราคา นับว่าเป็นข้อเสนอที่ก่อให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจเหล่านี้ทั้งสิ้น คือได้วัตถุดิบที่มีราคาถูก แต่เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์จากการที่ราคาสินค้าเหล่านี้ตกต่ำ เช่นในปัจจุบัน ราคามันสำปะหลังที่กำลังขุดออกสู่ท้องตลาด กิโลกรัมละ 1.70 – 1.90 บาท ราคาอ้อย ตันละ 808 บาท ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กิโลกรัมละ 7 – 8 บาท ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน ผลปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 4 บาท โดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อย เป็นราคาที่กล่าวได้ว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ต่ำกว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็คือผลพวงที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า

การที่คณะอนุกรรมการดังกล่าว ได้เสนอนโยบายให้เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก แต่ไม่ได้พูดถึงราคา นับว่าเป็นข้อเสนอที่ก่อให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจเหล่านี้ทั้งสิ้น คือได้วัตถุดิบที่มีราคาถูก แต่เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์จากการที่ราคาสินค้าเหล่านี้ตกต่ำ เช่นในปัจจุบัน ราคามันสำปะหลังที่กำลังขุดออกสู่ท้องตลาด กิโลกรัมละ 1.70 – 1.90 บาท ราคาอ้อย ตันละ 808 บาท ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กิโลกรัมละ 7 – 8 บาท ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน ผลปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 4 บาท โดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อย เป็นราคาที่กล่าวได้ว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ต่ำกว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็คือผลพวงที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า

นอกจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ซึ่งเดิมก็ผลิตเกินความต้องการของการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว ที่เหลือที่ต้องส่งออกก็ยังเจอปัญหาราคาที่ตกต่ำ ยังไม่พอรัฐบาลยังปล่อยให้มีการนำเข้ามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย น้ำมันปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบโดยผิดกฎหมาย เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทย จากการปล่อยปะละเลยของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ท่านรัฐมนตรี ควรจะต้องทบทวนนโยบายการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้ง 4 ชนิด ท่านต้องหยุดทำร้ายเกษตรกรเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนเหล่านี้ และบางคนก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลอีก ท่านทราบหรือไม่ว่า โรงงานน้ำตาลบางแห่งหยุดรับซื้ออ้อย โรงงานอาหารสัตว์หยุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลานมันและโรงงานมันเส้น หยุดรับซื้อมันสำปะหลัง เพื่อรอราคาให้ต่ำลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงจะเปิดการรับซื้อ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นชาวไร่อ้อย ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่มีทางเลือกต้องยอมขาย ไม่ว่าจะได้ราคาต่ำแค่ไหนก็ยอม

Single Command และการบูรณาการ ที่นำทีมข้าราชการระดับสูงลงในพื้นที่ ไปชี้แจงหรือรับฟังความเห็นของเกษตรกร โดยให้หน่วยงานในพื้นที่เกณฑ์เกษตรกรมาร่วมงาน ท่านรัฐมนตรี น่าจะนำทีมของท่านเดินทางไปอย่างเงียบๆ ดูการรับซื้อวัตถุดิบของเกษตรกรที่โรงงานน้ำตาล โรงงานอาหารสัตว์ ลานมันและโรงงานมันเส้นบ้าง ท่านจะได้ทราบข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้กลุ่มชาวไร่ที่ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ต้องเดือดร้อนกันแค่ไหน โรงงานเหล่านี้เอาเปรียบพี่น้องเกษตรกรเหล่านี้อย่างไร ท่านอย่าฟังแต่รายงานของเจ้าหน้าที่ หรือทีมบูรณาการของท่านเพียงฝ่ายเดียว

 

**********************************************************************