โค่นสวนยางพาราในพื้นที่ของรัฐ หรือ รักษาไว้เป็นป่าเศรษฐกิจ (Agro Forestry)

โค่นสวนยางพาราในพื้นที่ของรัฐ หรือ
รักษาไว้เป็นป่าเศรษฐกิจ (Agro Forestry)

อนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

28 พฤษภาคม 2558

 

          จากการที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายที่จะทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าโซน C ให้กลับมาเป็นของรัฐ ทั้งๆ ที่ได้ปล่อยให้มีการบุกรุกนับมาเป็นสิบๆ ปี และบางพื้นที่ ผู้บุกรุกได้ใช้พื้นที่เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งจากข้อมูลของกรมป่าไม้ได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกมากกว่า 10 ล้านไร่ และในพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 4.4 ล้านไร่

การทวงผืนป่าตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายที่ควรให้การสนับสนุน แต่นอกจากจะดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่บุกรุกแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะต้องทำการสอบสวนว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานับเป็นสิบๆ ปี ทำไมเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบจึงปล่อยปะละเลยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐจำนวนมากมายอย่างนี้ การจะมาเอาผิดเฉพาะผู้บุกรุก โดยการใช้อำนาจรัฐกับประชาชนเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบ ปล่อยปะละเลยคงจะไม่เป็นการถูกต้องนัก

การทวงพื้นที่สวนยางพาราที่ไปปลูกในพื้นที่ของรัฐ ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่สิ่งที่อยากจะเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาในการดำเนินการ คือ

  1. เมื่อยึดพื้นที่คืนแล้ว แทนที่จะไปโค่นต้นยางพาราทิ้ง น่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ เพราะการโค่นต้นยางพาราทิ้งมีปัญหาหลายประการ อาทิ

ก.            ต้องใช้เจ้าหน้าที่และงบประมาณจำนวนมาก และอาจจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้

ข.            เมื่อโค่นต้นยางพาราทิ้งแล้ว การนำเอาต้นยางพาราที่ถูกโค่นทิ้งแล้วออกจากพื้นที่เป็นเรื่องใหญ่ ยุ่งยาก ใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก และจะจัดการกับไม้ยางที่โค่นทิ้งอย่างไร กระบวนการเหล่านี้ก็จะเป็นช่องทางในการของบประมาณ และอาจจะเกิดการทุจริตได้อีก

ค.            พื้นที่ที่โค่นยางพาราทิ้งแล้ว จะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ต้องทำการปลูกป่าขึ้นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาการปลูกป่าของกรมป่าไม้มีความสำเร็จน้อยมาก มีการรั่วไหล ต้องใช้คนและงบประมาณเป็นจำนวนมาก การปลูกป่าแทนสวนยางพาราก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้อีก

  1.            ข้อเสนอ สำหรับพื้นที่สวนยางพาราที่ถูกยึดคืนควรจะต้องดำเนินภายใต้หลักการ ดังนี้

ก.            สวนยางพาราก็คือสวนป่า แต่เป็นป่าเศรษฐกิจ (Agro Forestry) ก็คือป่าปลูก ที่สามารถสร้างส่วนสีเขียว สร้างความร่มเย็น สร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน สิ่งแวดล้อม และชุมชน เหมือนกับป่าไม้ทั่วๆ ไป

ข.            พื้นที่ป่าในประเทศไทย ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนโยบายการให้สัมปทานป่าไม้ของรัฐแก่เอกชนเป็นนโยบายที่ทำลายพื้นที่ป่ามากที่สุด รวมทั้งการบุกรุกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ในขณะนี้ บางส่วนก็คือสวนยางพารา โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคตะวันออก รวมทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่สีเขียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนหนึ่งก็คือสวนยางพารา หากต้องโค่นทิ้งพื้นที่สีเขียวนี้ก็จะสูญหายไป และไม่รู้ว่ากี่ปีถึงจะปลูกทดแทนได้ (ผมไม่เชื่อว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการได้สำเร็จ)

ค.            จากเหตุผลดังกล่าว เมื่อยึดคืนสวนยางพารามาได้แล้ว ทำไมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงต้องโค่นทิ้ง และปลูกป่าขึ้นมาทดแทนใหม่ ทำไมจึงไม่รักษาสวนยางพาราเอาไว้

  1. การรักษาสวนยางพาราในพื้นที่บุกรุกก็คือ สมบัติของชาติ คือพื้นที่ป่าปลูก หากเกรงว่าจะมีเจ้าของที่บุกรุกไปทำการกรีดยางพารา หรือเข้าไปใช้ประโยชน์อีก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ต้องมีมาตรการป้องกัน ไม่ให้บุคคลเหล่นี้เข้าไปทำประโยชน์ได้อีก เช่น การประกาศให้เป็นพื้นที่หวงห้าม พื้นที่ห้ามเข้า จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยเฝ้าระวัง และดำเนินการตามกฎหมายสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
  2. ท่านรู้หรือไม่ ภาพที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปโค่นสวนยางพาราทิ้ง ทำการออกข่าวอย่างครึกโครม เป็นภาพที่ทำร้ายจิตใจของผู้ที่รักป่า รักต้นไม้ รักธรรมชาติเป็นอย่างมาก ในความคิดของท่านอาจจะคิดว่าภาพนี้จะทำให้คนไทยมีความเกรงกลัวต่อการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ของชาติ สร้างภาพให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นวีรบุรุษ แต่จริงๆ แล้วภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพในทางลบมากกว่า
  3. ตามนโยบายในปี 2558 นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินการโค่นสวนยางพาราทิ้งจำนวนถึง 4 แสนไร่ มีประเด็นคำถามดังต่อไปนี้

ก.            จำนวนคน และงบประมาณที่ต้องใช้ในการโค่นสวนยางพารา 4 แสนไร่

ข.            กระบวนการเอาไม้ออกจากพื้นที่ ต้องใช้คนและงบประมาณเท่าไร

ค.            ท่านจะจัดการกับไม้ยางพาราที่ถูกโค่นทิ้งอย่างไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไร

ง.            ถ้าจะมีการปลูกป่าแทนสวนยางพาราที่ถูกโค่นทิ้ง จำนวน 4 แสนไร่ ต้องใช้งบประมาณเท่าไร ใช้เวลากี่ปีถึงจะปลูกให้ครบตามจำนวนที่ท่านโค่นทิ้งไป

ผมหวังว่า ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านี้ จะได้รับการพิจารณาตามหลักการและเหตุผลที่อยู่ในบทความนี้

 

**********************************************************************