สศก. เร่งปลูกถั่วเหลืองลดพึ่งพาการนำเข้า

 

สศก. เร่งปลูกถั่วเหลืองลดพึ่งพาการนำเข้า

 

นายอนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

13 กรกฎาคม 2561

 

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า สศก. ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมติให้มีการส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองในประเทศเพิ่มขึ้น  เพื่อทดแทนการนำเข้า

ข้อเท็จจริง เมื่อปี พ.ศ. 2530 จนถึงปี พ.ศ. 2538  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายที่จะผลิตถั่วเหลืองให้ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 6 แสนตัน เพื่อทดแทนการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ  ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประเทศไทยมีการใช้ถั่วเหลืองปีละประมาณ 1 ล้านตัน และในปี พ.ศ. 2538 ประเทศไทยสามารถผลิตถั่วเหลืองได้เกือบ 5 แสนตัน ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ จนประเทศไทยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการถั่วเหลืองโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมถั่วเหลืองโลก ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2537

พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยในขณะนั้น  มีประมาณ 1 ล้านไร่  แต่มีการปลูกในฤดูฝน ประมาณ 7 แสนไร่ และปลูกในฤดูแล้ง หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในเขตพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 3 แสนไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่  ภาคเหนือตอนล่าง เช่น กำแพงเพชร แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์  ภาคกลางตอนบน เช่น ลพบุรี  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่น

จากข้อมูลของ สศก. ในปี พ.ศ. 2561/62  คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกถั่วเหลือง 132,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 38,000 ตัน เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 287 กิโลกรัม  ในขณะที่ความต้องการใช้ประมาณ 2.93 ล้านตัน หรือผลิตได้เพียง 1.3% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ

เหตุผลว่าทำไมผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยจึงลดลงมากมายอย่างนี้  สศก. คงจะต้องไปหาคำตอบ และจะรู้ต้นตอของปัญหา  ดังนั้น การที่จะรื้อฟื้นให้มีการผลิตถั่วเหลืองให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้า  ท่านจะมีนโยบาย มาตรการ และวิธีการอย่างไร  เพราะในปี พ.ศ. 2532-2538 การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลือง มีนโยบายและวิธีการที่ชัดเจน ร่วมมือกันทุกฝ่าย  โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝนและฤดูแล้ง  ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปลูกถั่วเหลืองได้ปีละ 2 ครั้ง  ภายใต้นโยบายและการกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองและพืชน้ำมันอื่น (เช่น ปาล์มน้ำมัน)  ขณะนี้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ยังมีอยู่หรือไม่ ก็ไม่ทราบ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เมื่อกฎกติกาของการค้าเสรี (Free Trade) ภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538  นโยบายการนำเข้าถั่วเหลืองของกระทรวงพาณิชย์ คือ นโยบายที่ทำลายการผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทย  รวมถึงสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ เช่น การนำเข้าเส้นไหม การนำเข้าปาล์มน้ำมัน การนำเข้าข้าวสาลี การนำเข้ามะพร้าวที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้  รวมทั้ง การกดดันของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ประเทศไทยนำเข้าสุกร ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และถ้าหากประเทศไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าสุกรจากประเทศสหรัฐอเมริกา  อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย คงจะพังทลายทั้งระบบ

ถึงเวลาหรือยังที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องมีความเข้มแข็ง มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศไทย ไม่ให้สูญสลายไปจากนโยบายการนำเข้าที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดขึ้น  โดยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้มีบทบาทในเรื่องนี้อย่างที่พวกผมเคยต่อสู้ในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้น การส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นเรื่องที่ดี  แต่ผมบอกได้เลยว่า จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในอดีตที่ผ่านมา ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง  งานวิจัยเรื่องถั่วเหลืองของกรมวิชาการเกษตร การผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก และส่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ส่งเสริม เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรไม่ได้ทำอีกเลย  เกษตรกรจะเอาเมล็ดพันธุ์ที่ไหนมาปลูก (เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปได้)  เกษตรกรไม่อยากที่จะปลูก เพราะราคาที่ตกต่ำจากนโยบายการนำเข้าถั่วเหลือง

สิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องดำเนินอย่างจริงจัง คือ การปกป้องสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า  ทบทวนนโยบายการค้าเสรี โดยเฉพาะสินค้าเกษตร  ดังเช่นหลายประเทศดำเนินการอยู่ในขณะนี้  โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และสภาพยุโรป

 

*****************************************************************