สมรภูมิสารกำจัดศัตรูพืช

 

สมรภูมิสารกำจัดศัตรูพืช

        สมาชิกอาเซียน กำลังตื่นเต้นกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในวันที่ 1 มกราคม 2558

ประเทศไทยเอง จัดการประชุมเตรียมความพร้อม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนราชการต่างๆ เสนอโครงการเร่งด่วน วงเงินงบประมาณ 1.87 แสนล้านบาท เฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอของบ 2.54 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการด้านปศุสัตว์ และโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก เป็นต้น

ครัวไทยสู่ครัวโลก เชื่อมโยงแยกไม่ออกกับปัจจัยการผลิตอย่างสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช

ลำพังเฉพาะการค้าสารกำจัดศัตรูพืชในประชาคม AEC ประเทศไทยน่าจะดำรงสถานะความได้เปรียบหลายชาติในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืช ที่ต้องทดสอบพิษวิทยา (Toxicity Study) ซึ่งกำหนดให้ทดสอบในห้องปฏิบัติการ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GLP (Good Laboratory Practice) จากกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organization for Economic Co-operation and Development) เท่านั้น

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทย ต้องลงทุนสูงในการส่งสารเคมีเกษตรไปทดสอบพิษในห้องปฏิบัติการ OECD-GLP ในต่างประเทศ เช่นอินเดีย และยุโรป ในขณะหลายชาติอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ยังไม่มีข้อปฏิบัตินี้

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สารกำจัดศัตรูพืชจากประเทศไทยสามารถขึ้นทะเบียนผลิตและค้าภายในกลุ่ม AEC ได้ง่ายกว่า กลับกันหลายประเทศข้ามมาขึ้นทะเบียนในไทยได้ยากเย็นกว่า

การค้าสารกำจัดศัตรูพืชในเวที AEC จึงไม่น่าห่วง และเป็นเรื่องน่ายินดีด้วยซ้ำ หากผู้ประกอบการไทยจะใช้ข้อได้เปรียบนี้ไปขยายฐานธุรกิจในขณะที่ยังความได้เปรียบอยู่

โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายกว่า น่าจะอยู่ที่การใช้สารกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรไทยสำหรับผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร

สารกำจัดศัตรูพืช จะยังประโยชน์มหาศาล หากรู้จักใช้อย่างรู้เท่าทัน เช่นการป้องกันศัตรูพืช การเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นด้วย

น่าเสียดายที่เราได้เปรียบในระดับการค้าของผู้ประกอบการ แต่เรากลับประสพปัญหาในระดับการใช้ของเกษตรกร จนไม่อาจเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพได้ดีนัก และไม่อาจเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้

ข้อด้อยอย่างยิ่งในการใช้สารกำจัดศัตรูพืช คือการขาดความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรอย่างถูกวิธีตั้งแต่อัตราการใช้ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ ตลอดจนวิธีการฉีดพ่นของเกษตร ทั้งที่ทำการเกษตรมายาวนาน และใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่น้อยกว่า 50 ปี

ป่วยการโทษเป็นความผิดของเกษตรกรฝั่งเดียว ตรงข้ามเป็นเครื่องสะท้อนถึงความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นโจทย์ใหญ่ให้ทุกฝ่ายใส่ใจและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังแทนการหาจำเลยอย่างที่เป็นมา

งบที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอขอ หากจะจัดสรรมาเพื่อแก้โจทย์ข้อนี้บ้างก็น่าจะแสดงถึงความใส่ใจ และตั้งใจแก้ปัญหา

ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์ AEC อย่างเดียว หากตอบโจทย์การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนเหมาะสม สำหรับทุกระดับ ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกในมิติที่กว้างขวางกว่า AEC ด้วยซ้ำ