มายาภาพเกษตรอินทรีย์

 

มายาภาพเกษตรอินทรีย์

          การตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานใน “ผักปลอดภัย” ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต (Q) จากกรมวิชาการเกษตรในซูเปอร์มาร์เก็ตห้างสรรพสินค้านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ผักปลอดภัยสามารถแปลงร่างเป็นผักไม่ปลอดภัยได้โดยง่าย

พอๆ กับผักที่ผลิตด้วยกระบวนการปกติทั่วไปก็อาจอาศัยฉลากตัว Q มาห่อหุ้มจำแลงกายเป็นผักปลอดภัยได้ในบัดดลเช่นกัน

เป็นการตอกย้ำว่า อักษรตัว Q หรืออักษรใดๆ จึงไม่ใช่เครื่องค้ำประกันความปลอดภัย 100%

ตรงกันข้าม การตรวจสอบอย่างเข้มงวด รัดกุม เอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานเกี่ยวข้องเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องการันตีดีที่สุดสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

ในระดับโลก มีความพยายามสร้างกระแส เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) ในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นกระแสหลัก แทน Conventional Farming ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานเข้าด้วยกัน เช่น วิธีการใช้พันธุ์พืช การไถพรวน การใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช สารชีวภาพ ฯลฯ แต่คำนี้ไม่มีบัญญัติศัพท์ไทย จึงมีคนเรียกกันว่า เกษตรเคมี ซึ่งถูกความหมายเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ชาติพัฒนาทั้งหลายที่เข้มงวดความปลอดภัยอาหาร ไม่ว่ายุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น ไม่ได้ให้เครดิตการยอมรับเกษตรอินทรีย์เท่าใดนักถือเป็นเพียงผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่บ่งบอกถึงกระบวนการ และวิธีผลผลิตเท่านั้น

ไม่ได้บอกว่า อาหารอินทรีย์เป็นเครื่องการันตีในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ กระทั่งรสชาติ !!!

กระบวนการตรวจสอบอาหาร Organic Farming ก็ปฏิบัติเท่าเทียมกับอาหาร Conventional Farming เพราะถือเป็นเพียงทางเลือกของผู้บริโภค

ความที่คาดหมายว่า เกษตรอินทรีย์จะมาแรง ทำให้เกิดมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมากมาย ต่างคนตางมาตรฐาน ไปๆ มาๆ มีมากกว่า 100 มาตรฐานตนไม่รู้จะเลือกเชื่อมาตรฐานใครดี

ในสหรัฐอเมริกาที่เกษตรอินทรีย์ทำท่ามาแรง มูลค่าเพิ่มจาก 1 พันล้านเหรียญ ในปี 2533 มาเป็น 7.8 พันล้านเหรียญ ในปี 2543 พื้นที่ปลูก 9 แสนไร่ ในปี 2535 มาเป็น 2542

กระนั้นผลผลิตเกษตรอินทรีย์และยอดขาย ยังเป็นเพียง 0.3% ของผลผลิตรวมในปี 2544 ของอเมริกาทั้งประเทศ

ไม่ต่างจากประเทศไทยที่หลงเพริดกับตัวเลขการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 140,938 ไร่ ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 90% จากปี 2548 ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นข้าว ผักผลไม้สด และสมุนไพร โดยมีมูลค่าส่งออก 427 ล้านบาท แต่พอเทียบกับมูลค่าส่งออกข้าวอย่างเดียว 2-3 แสนล้านบาทแล้ว นับว่าน้อยมากจนเทียบไม่ติดเช่นกัน

เช่นเดียวกับการจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เฉพาะพืชผักก็ตั้งชื่อสินค้าเป็นผักอนามัย ผักอินทรีย์ ผักไร้สารพิษ ผักปลอดสารพิษ เป็นต้น ต่างคนต่างมาตรฐาน สร้างความสับสนงุนงงให้แก่ผู้บริโภค เพราะในทางปฏิบัติ ผักอินทรีย์เหล่านี้ ยังคงใช้สารเคมีเกษตรกันอยู่ จะมากหรือน้อยเท่านั้น

ขืนเป็นเกษตรอินทรีย์แท้ๆ ผลผลิตต่ำกว่าวิธีผลิตทั่วไปมาก ตั้งแต่อัตรา 20-30% จนถึง 50% ด้วยผลผลิตที่ต่ำมากประการหนึ่ง และต้องใช้กระบวนการจัดการด้านหีบห่อให้ดูอีกประการหนึ่ง จึงทำให้ราคาสูงกว่าผักทั่วไปเป็นเท่าตัว กลายเป็น ผักไฮโซ ขายบรรดาผู้มีอันจะกิน ยอดขายจึงไม่ได้มหาศาลอย่างที่นึกฝันกัน

ในขณะตลาดสดระดับล่าง จะเป็นผักไหนๆ ทุกอย่างเหมือนกันหมด ราคาถูกกว่าผักไฮโซมาก แถมมูลค่าตลาดยังมากมายจนเทียบไม่ติด

บางด้านของเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นมายาภาพที่ต้องระมัดระวังไม่ถูกหลอก