ผักไฮโซสะท้อนอักษร Q

 

ผักไฮโซสะท้อนอักษร Q

          การตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างในผักที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้า หรือเรียกเล่นๆ ว่า ผักไฮโซ เพราะขายอยู่ในห้าง และโฆษณาว่าปลอดสารจึงมีราคาแพง ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้บริโภคไม่ใช่น้อย

มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจพบสารเคมีตกค้างใน ถั่วฝักยาว คะน้า ผักชี และพริกจินดา บางรายการพบว่า บรรจุอยู่ในภาชนะที่ติดฉลากตัว Q หมายถึง ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิต จากกรมวิชาการเกษตรด้วยซ้ำ

จะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะพืชผักไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ก็ยังแก้ปัญหานี้กันไม่ตก กรมวิชาการเกษตร ต้องใช้มาตรการบังคับตรวจสอบสินค้าทั้ง 100% ก่อนส่งออก เพื่อป้องกันปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างเกินกำหนด การปนเปื้อนโรคและแมลงศัตรูพืช ยังผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกทรุดต่ำกว่าเดิมมาก ทั้งที่พืชผักเหล่านี้เป็นวัตถุดิบจำเป็นสำหรับร้านอาหารไทยในต่างแดนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่

ใช่ว่า จู่ๆ อียูจะเข้มงวดกับพืชผักจากไทย หากแต่ตรวจพบหลายครั้งว่า พืชพักถ้าไม่มีปัญหาสารเคมีตกค้างเกินค่ากำหนด ก็มีปัญหาการปนเปื้อนเมื่อเหลืออด จึงยื่นคำขาดให้ประเทศไทยเลือกที่จะถูกห้ามนำเข้า หรือจัดการเก็บตัวเองอย่างเข้มงวด

ผลสะเทือนตลาดอียู จึงสะท้อนภาพใหญ่ได้ว่า กระบวนการผลิตพืชผักของประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ และยังต้องการการแก้ไขปรับปรุงอีกมาก

ยุทธศาสตร์ครัวโลก ที่รัฐบาลไทยประกาศเอาไว้ จึงไม่อาจเป็นจริงได้ตราบที่ยังบริหารจัดการอยู่อย่างนี้         ยิ่งการพบสารเคมีเกษตรตกค้างในพืชผัก ภายใต้ตรารับรองมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรที่มีอักษรตัว Q ก็ยิ่งสะท้อนให้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการภายใต้หน่วยงานรัฐกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรที่ได้รับเครื่องหมายนี้ เป็นไปค่อนข้างหละหลวม เมื่อไม่มีการกำกับที่ดีพอจากต้นทาง ปล่อยให้มีการตรวจสอบปลายทางในห้างสรรพสิน ผลจึงฟ้องออกมาในลักษณะเดียวกับกรณีตลาดอียูยังไงก็ยังงั้น

ต้องปฏิรูปการทำงานใหม่เสียที และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องใช้มาตรฐานเดียวกำกับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ว่าตลาดในประเทศหรือตลาดส่งออก

เพราะชีวิตคนมีความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะคนยุโรป อเมริกัน ญี่ปุ่น กระทั่งคนไทย

การดำเนินการผลิตต่างมาตรฐาน (Double Standard) ในเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค ยิ่งทำให้การพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยชะงักงัน และไม่อาจประสบความสำเร็จในระยะยาวได้เลย ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างเหลือล้น จึงเป็นการสูญเสียโอกาสอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ตรงกันข้าม หากเน้นการผลิตแบบรับผิดชอบและมีการดูแลอย่างจริงจังภายใต้มาตรฐานเดียวกันประเทศไทยก็จะไม่มีปัญหาการขายในประเทศ และการส่งออก เหมือนกับที่ชาติพัฒนาทั้งหลายดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า โดยปกติพืชผักนั้นสารเคมีตกค้างอยู่แล้ว จากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงกำหนดให้มีค่าอัตราการตกค้างของสารเคมีสูงสุดที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค (MRLs-Maximum Residue Limits) ขึ้นมาเป็นมาตรฐานโลก แต่ละประเทศก็จะนำไปปรับใช้เป็นค่ามาตรฐานของตัวเอง ทั้งนี้ก็ยังอิงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ