สารกำจัดวัชพืชเติบใหญ่
สารกำจัดวัชพืชเติบใหญ่
ยกเครื่องเรื่องสารกำจัดศัตรูพืช
สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร
สัดส่วนการใช้สารเคมีของประเทศไทย แบ่งเป็น สารกำจัดวัชพืช 70% สารกำจัดแมลง 13-15% และสารกำจัดโรคพืช 7-10% นั้น เป็นส่วนตัวเลขที่ “นิ่ง” ตลอดระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2550-2554)
เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ และสะท้อนการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคมการเกษตรของประเทศไทย
ย้อนหลัง ช่วง 5 ปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2539-2543) สารกำจัดวัชพืชมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 45%-55% สารกำจัดแมลง 25%-30% สารกำจัดโรคพืช 15%-17% และช่วงพ.ศ. 2544-2549 น่าจะเป็นไปในรูปรอยเดียวกัน คือเพิ่มการใช้สารกำจัดวัชพืช แล้วไปลดสัดส่วนการใช้สารกำจัดแมลงและโรคพืชอย่างต่อเนื่อง
ยังไม่แน่ว่า ในอีก 5 ปีถัดจากนี้ไป พ.ศ. 255-2559 สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร แต่ถ้าโดยรูปการแล้ว สัดส่วนไม่น่าจะลดลงจากที่ยืนอยู่ในเวลานี้ เผลออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ
เหตุผลสำคัญ มีทั้งจากปัจจัยพื้นฐานที่ดำรงอยู่ในภาคเกษตร และปัจจัยใหม่ๆ
ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่หันไปรับจ้างในเมือง ซึ่งเป็นตลาดแรงงานที่กว้างใหญ่กว่า มีงานให้เลือกทำได้มากกว่าและมองว่ามีโอกาสในชีวิตมากกว่า กลับกันแรงงานที่มีอยู่มีการปรับค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรหมดทางเลือก ต้องพึ่งสารกำจัดวัชพืชแทนสถานเดียว ซึ่งสะดวกสบายกว่า และต้นทุนการกำจัดวัชพืชถูกกว่า
ปัจจัยใหม่ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ในทางการเมือง การประกาศนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านไร่ในขอบเขตทั่วประเทศ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไปสู้ทิศทางที่รัฐบาลกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าโครงการปาล์มล้านไร่ โครงการยางพาราหลายล้านไร่
กลับกัน เศรษฐกิจบางภาคของโลกของโลกมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะพืชอาหารที่สามารถแปรเป็นพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย ผลิตผลเหล่านี้สามารถแปลงมาใช้ผสมในรูปน้ำมันไบโอดีเซล แก็สโซฮอล์ ซึ่งนโยบายรัฐบาลก็รับต่อพลังงานทดแทนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม หรือการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกที่ต้องการยางรถยนต์มหาศาลตามมา ส่งผลให้เกิดการขยายการปลูกพืชเหล่านี้มากขึ้น
ในทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าเกษตรเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ราคาพืชผลได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในพ.ศ. 2551 ที่เคยเกิดวิกฤติการณ์ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างมากมาย อันเนื่องจากการนำพืชอาหารไปแปลงเป็นพลังงานนั่นเอง
ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมาก และสูงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรไทยหันไปปลูก และขยายพื้นที่ปลูกอย่างจริงจัง ไม่เว้นการปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือกระทั่งบุกรุกปลูกในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ
อาหารตื่นปลูกเหล่านี้ ทำให้การใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างมากมาย ไม่นับรวมพืชอย่างอื่นที่ปลูกอยู่แล้วและต้องใช้มากอยู่แล้ว เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ไม่ว่าในรูปยาคุมคือการฉีดป้องกันการงอกของวัชพืช อย่างน้อย 1-2 ครั้ง/ฤดู หรือยาฆ่าที่ใช้กำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่ก่อนแล้ว เช่น ในสวนยาง หรือสวนปาล์ม อย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง
หากไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ป่านนี้ประเทศไทยคงไม่สามารถส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก เช่นเดียวกับข้าว เป็นอันดับ 2 ของโลก อย่างน้ำตาลและสับปะรด หรืออันดับ 3 ของโลกอย่างปาล์มน้ำมัน
เป็นมิติด้านบวกของสารเคมีเกษตรที่สังคมไทยเองยังนึกไม่ค่อยออก