แถลงการณ์นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 2

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

***************************************************************

 

     มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤกษาคม 2561 มีประเด็นหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ

  1. ไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต  แต่ให้มีการ “จำกัดการใช้ ” โดยจะให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปออกมาตรการควบคุมภายใน 2 เดือน  ทั้งการนำเข้า การซื้อ การใช้ของเกษตรกร  รวมถึงต้องอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยเหตุผลที่ไม่พิจารณายกเลิก เพราะข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ
  2. ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย เพราะสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ยังจัดกลุ่มสารเคมีประเภทที่ 3 ที่มีการจำกัดปริมาณการใช้อยู่แล้ว

โดยคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ จำนวนถึง 18 คน ที่ออกเสียงตามมติดังกล่าว มีเพียง 3 คน ที่ให้ “ยกเลิก” การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ทั้ง 3 ชนิด และคณะกรรมการฯ 3-4 คน งดออกเสียง

คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ 19 หน่วยงาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 10 ท่าน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่กล่าวได้ว่า มีความหลากหลายมากที่สุด  โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกาศ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 โดย นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี  แต่การที่กรรมการบางคน และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร ได้มีแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “ผลการลงมติเช่นนี้ สะท้อนโครงสร้างล้าหลังของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ไม่อาจปกป้องผลประโยชน์และสุขภาพของประชาชน แต่กลับเป็นเครื่องมือของกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ” เป็นการดูถูก ดูหมิ่นคณะกรรมการส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้สนองความต้องการขององค์กรและเครือข่ายของ NGO เหล่านี้  โดยเฉพาะ แถลงการณ์ส่วนบุคคลของคุณจิราพร  ลิ้มปานานนท์ ที่ท่านได้กล่าวถึงตอนหนึ่งว่า “กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้น ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น”

แท้ที่จริงแล้ว องค์กรเอกชน NGO และเครือข่าย โดยเฉพาะ Thai-PAN และคุณจิราพร  ลิ้มปานานนท์ ได้รู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า กระบวนการการยกเลิกหรือการจำกัดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีความไม่โปร่งใส เพราะเริ่มจากคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 2383/2559 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง สั่ง ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559  โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการฯ จำนวน 21 คน มีนายเสรี  ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ  มีกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 12 คน  กรรมการจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงานละ 1 ท่าน และที่สำคัญคือ มีนางสาวปรกชล  อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีจำกัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งเป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวให้ข้อมูล ให้สัมภาษณ์โจมตีเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชของประเทศไทยมาโดยตลอด ถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอน  รวมจำนวนคณะกรรมการฯ ที่เป็นฝ่ายของกระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถชี้นำได้ถึง 16 คน และได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอห้ามใช้วัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และให้จำกัดการใช้วัตถุอันตรายไกลโฟเซต อย่างเข้มงวด  ซึ่งมติดังกล่าว กลายเป็นนโยบายที่ทำให้กรมวิชาการเกษตร ต้องนำมาปฏิบัติจนกลายเป็นปัญหามาอย่างยาวนานเกือบ 2 ปี  ซึ่งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่มี ดร. ภักดี  โพธิศิริ เป็นประธานอนุกรรมการ  ต้องมานั่งแก้โจทย์ที่ผิด และกลายเป็นเหยื่อขององค์กร NGO และเครือข่าย  รวมทั้ง Thai-PAN และบุคคลบางคนที่ได้ออกมากล่าวหาจากแถลงการณ์ที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ

“ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีจำกัดศัตรูพืช (Thai-PAN) คือใคร?  ทำไมตัวแทนของเครือข่ายนี้ ไปเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ได้อย่างไร? ”

 

อนันต์  ดาโลดม

28 พฤกษาคม 2561

 

<…………………………………………………………………………………………………..>