ข้าวพันธุ์ใหม่จากงานวิจัยของกรมการข้าว

 

ข้าวพันธุ์ใหม่จากงานวิจัยของกรมการข้าว

สมทรง  โชติชื่น

กข71 ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างลูกผสมกลับชั่วที่ 1 ของ PSL00041-97-3-2-7/* 2IR6738-118-1-2 กับ LPHR303-PSL-30 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ปลูกคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ได้สายพันธุ์ดี PSL06004-CNT-7-2-2-1 (รับรองพันธุ์เป็น กข71) เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 95 วัน ทรงกอตั้ง ความสูงประมาณ 105 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียวเข้ม ปลายใบตั้งตรง ใบธงตั้งตรงถึงปานกลาง รวงแน่นปานกลาง คอรวงโผล่เล็กน้อย จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 108 เมล็ด เมล็ดร่วงง่าย ข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องรูปร่างเรียว ความยาวข้าวกล้องเฉลี่ย 7.89 มิลลิเมตร กว้าง 2.19 มิลลิเมตร หนา 1.84 มิลลิเมตร ปริมาณอมิโลสสูง (27.6%) ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวหุงสุกสีขาวนวล ค่อนข้างร่วน ลักษณะเด่น คือ อายุเก็บเกี่ยวสั้น 95 วัน (ปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม) ผลผลิตสูง (เฉลี่ย 818 กิโลกรัมต่อไร่) คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่ย้อย คุณภาพสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 53.2 (ผลิตเป็นข้าวสาร 100% ชั้น 1 ได้) ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง เป็นทางเลือกของเกษตรกรที่ต้องการข้าวอายุสั้น เพื่อปลูกในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในฤดูนาปี และพื้นที่ที่มีน้ำจำกัดในฤดูนาปรัง ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง

กข73 ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างขาวดอกมะลิ 105 กับสายพันธุ์ IR66946-196-3R-1-1 ซึ่งมียื่นทนดินเค็ม ผสมย้อนกลับไปหาพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 3 ครั้ง คัดเลือกได้สายพันธุ์ดี UBN02123-50R-B-3 (รับรองพันธุ์เป็น กข73 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ออกดอกประมาณวันที่ 19 ตุลาคม ทรงกอตั้ง ความสูงประมาณ 157 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียว ปลายใบตั้งตรง ใบแก่เร็วปานกลาง ใบธงตั้งตรง รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 143 เมล็ด เมล็ดร่วงง่าย เปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว มีความยาวเฉลี่ย 7.45 มิลลิเมตร กว้าง 2.15 มิลลิเมตร หนา 1.75 มิลลิเมตร รูปร่างเมล็ดเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 45.0 ปริมาณอมิโลสสูง (25.6-27.2%) ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ อัตราการยืดตัวของข้าวสุกปกติ (1.72 เท่า) ลักษณะเด่น คือ ทนดินเค็มได้ดีกว่าขาวดอกมะลิ 105 ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้า ในหลายท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหลือและภาคเหนือตอนบน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและการสีดี คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี ข้าวหุงสุกค่อนข้างนุ่ม มีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อควรระวังคือ อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว และบั่ว

กข75 ได้จากการผสมข้าวพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ข้าวต้านทานโรคไหม้ IR77955-24-75-284 กับ DHL279 (ลูกผสมระหว่างเจ้าหอมนิล กับ ขาวดอกมะลิ 105) ที่มียีนต้านทานโรคไหม้อยู่บนโครโมโซม 1 และ 11 แล้วผสมกลับ 3 ครั้ง ไปยัง IR77955-24-75-284 แต่ละครั้ง ใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก ได้สายพันธุ์ดี UBN03007-47-7-7-26-35-19 (รับรองพันธุ์เป็น กข75) เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง ออกดอกประมาณวันที่ 5 ตุลาคม เมื่อปลูกโดยวิธีปักดำความสูงเฉลี่ย 157 เซนติเมตร ทางกอแบะ ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียวเข้ม กาบใบสีเขียว มุมใบธงมีหลายแบบปนกัน รวงแน่นปานกลาง แตกระแง้ปานกลาง คอรวงยาว จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 178 เมล็ด ข้าวเปลือกสีฟาง รูปร่างเมล็ดเรียว ข้าวกล้องสีขาว ความยาวข้าวกล้องเฉลี่ย 7.77 มิลลิเมตร กว้าง 1.97 มิลลิเมตร หนา 1.76 มิลลิเมตร ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 47.8 ปริมาณอมิโลสต่ำ (15.4%) อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ความคงตัวแป้งสุกอ่อน คุณภาพข้าวสุกนุ่ม มีกลิ่นหอมอ่อน ลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคไหม้ อายุเบากว่า กข15 ประมาณ 5 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 431 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ กข15 (318 กิโลกรัมต่อไร่) ร้อยละ 24 คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดอนที่อาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหลือ ข้อควรระวัง คือ ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว หนอนกอ บั่ว โรคขอบใบแห้ง และโรคไหม้คอรวง

กข77 ได้จากการนำเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 ปริมาณ 500 กรัม ไปฉายรังสีแกมมา 200 เกรย์ ที่ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเมล็ด M1 มาปลูกคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จนได้สายพันธุ์ KDML105’02G1Cs-PTT-15-1-2-2-1 (รับรองพันธุ์เป็น กข77) เป็นข้าวต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 105-108 วัน (หว่านน้ำตม) หรือ 110-115 วัน (ปักดำ) ความสูง 110-117 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง ลักษณะรวงและการแตกระแง้ปานกลาง คอรวงสั้น จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 149 เมล็ด เมล็ดร่วงง่าย นวดง่าย เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ไม่มีหาง รูปร่างเรียวน้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 26.70 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือกต่อถัง 9.93 กิโลกรัม ปริมาณอมิโลสต่ำ (16.3%) ข้าวสุกค่อนข้างเหนียวและนุ่ม ไม่มีกลิ่นหอม ลักษณะเด่น คือ เป็นข้าวเจ้านุ่มค่อนข้างเหนียว ไม่ไวต่อช่วงแสง มีเสถียรภาพการให้ผลผลิตดี ลำต้นแข็งเหมาะสำหรับพื้นที่นาชลประทาน ข้อควรระวัง คือ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ โรคใบหงิก เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ซีบูกันตัง 5 ได้จากการเก็บรวบรวมข้าวพันธุ์ซีบูกันตังจากแหล่งปลูกต่างๆ ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 350 รวง นำมาปลูกคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี คัดเลือกได้สายพันธุ์ดี PTNC08001-5 (รับรองพันธุ์เป็น ซีบูกันตัง 5) เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 130 วัน ผลผลิต 616 กิโลกรัมต่อไร่ ทรงกอตั้ง ลำต้นค่อนข้างแข็ง ความสูงของลำต้น 108.4 เซนติเมตร ปล้องสีเขียว แผ่นใบสีเขียว คอรวงสั้น รวงแน่นปานกลางแตกระแง้ปานกลาง ข้าวเปลือกสีน้ำตาล ข้าวกล้องสีขาว ความยาวข้าวกล้องเฉลี่ย 6.15 มิลลิเมตร กว้าง 2.16 มิลลิเมตร หนา 1.55 มิลลิเมตร รูปร่างเมล็ดปานกลาง (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง 2.84) ท้องไข่ย้อย น้ำหนักข้าวเปลือก 18.5 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด และน้ำหนักต่อถังเท่ากับ 12.1 กิโลกรัม คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 45 ปริมาณอมิโลสสูง (27.2%) อุณหภูมิแป้งสุกปานกลาง ความคงตัวแป้งสุดปานกลาง ลักษณะเด่น คือ ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 616 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวสุกร่วนแข็งเล็กน้อย ตรงกับความนิยมของผู้บริโภคในท้องถิ่น เหมาะสำหรับปลูกในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อโรคไหม้

ดอกข่า 50 ได้จากการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่ดอกข่าจากแหล่งปลูกต่างๆ ในอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์นี้มาก จำนวน 200 รวง นำมาปลูกคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ ได้สายพันธุ์ดี KBIC06001-50 (รับรองพันธุ์เป็นดอกข่า 50) เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ออกดอกประมาณวันที่ 18 กันยายน ความสูงประมาณ 145 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ใบสีเขียว กาบในสีเขียว มุมใบธงปานกลาง คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง แตกระแง้ปานกลาง ข้าวเปลือกสีฟางก้นจุด ข้าวกล้องมีสีแดง ความยาวเฉลี่ย 7.50 มิลลิเมตร กว้าง 1.98 มิลลิเมตร หนา 1.73 มิลลิเมตร รูปร่างเมล็ดยาวเรียว ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 25 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือก 10.90 กิโลกรัมต่อถัง ปริมาณอมิโลสปานกลาง (21.2%) ท้องไข่น้อย (0.31%) คุณภาพการสีดีมาก สีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 53.0 อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ การยืดตัวของข้าวสุกปกติ (1.60 เท่า) ลักษณะเด่น คือ ผลผลิตสูง (เฉลี่ย 396 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ดอกพะยอม (241 กก./ไร่) 64 เปอร์เซ็นต์ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวซ้อมมือเมื่อหุงสุกมีกลิ่นหอมปานกลาง ค่อนข้างนุ่ม และมีปริมาณสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ กรดไขมันชนิดโอเมก้า 9 วิตามินอีชนิดอัลฟาโทโคพีรอล และแกมมาโทโคฟีรอลในข้าวกล้องค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับปลูกในสภาพไร่ ปลูกแซมยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในพื้นที่จังหวัดพังงา ตรัง นครศรีธรรมราช และระนอง ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อโรคไหม้

มะลินิลสุรินทร์ (มะลิดำ 2) ได้จากการคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวเจ้าพื้นเมืองพันธุ์มะลิดำ (SRNC03053) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ นำสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ไปศึกษาคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ (สารประกอบฟีโนลิกในเมล็ด) ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และศึกษาฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คัดเลือกได้สายพันธุ์ดี SRNC03053-6-2 (รับรองพันธุ์เป็น มะลินิลสุรินทร์ (มะลิดำ 2)) เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ทรงกอแบะ ลำต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว กาบใบสีเขียว  ใบธงมีหลายลักษณะปนกัน ความสูง 122 เซนติเมตร ออกดอกประมาณวันที่ 28 ตุลาคม คอรวงยาว รวงค่อนข้างยาว แตกระแง้ปานกลาง ข้าวเปลือกสีฟางร่องดำ ข้าวกล้องสีม่วงดำ มีความยาวเฉลี่ย 7.19 มิลลิเมตร กว้าง 2.13 มิลลิเมตร และหนา 1.59 มิลลิเมตร ท้องไข่ย้อย (0.30) คุณภาพการสีได้ข้าวกล้อง 74.5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว 38 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอมิโลสต่ำ (13.2%) อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ การยืดตัวของข้าวสุกปกติ (1.40 เท่า) ลักษณะเด่น คือ เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และค่อนข้างต้านทานโรคไหม้ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝน ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว หนอนกอ และโรคขอบใบแห้ง

เหลืองใหญ่ปราจีนบุรี48 ได้จากการเก็บรวบรวมข้าวพันธุ์เหลืองใหญ่ จำนวน 200 รวง จากแปลงนาของนางทองปอน  เพชรเอี่ยม ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี นำมาปลูกคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ ได้สายพันธุ์ดี PCRC03001-48 (รับรองพันธุ์เป็นเหลืองใหญ่ปราจีนบุรี48) เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ออกดอกวันที่ 18-24 พฤศจิกายน มีความสามารถยืดปล้องได้ดีมากถึงปานกลาง ต้นสูงประมาณ 215 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ) ทรงกอแบะ ต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว มุมใบธงเป็นแนวนอน ข้าวเปลือกสีเหลือง ข้าวกล้องรูปร่างเรียว ยาว 7.50 มิลลิเมตร กว้าง 2.26 มิลลิเมตร หนา 1.82 มิลลิเมตร คุณภาพการสีดี ท้องไข่ปานกลาง (1.14) ปริมาณอมิโลส ปานกลาง (24.8%) ความคงตัวของแป้งสุกปานกลาง อุณหภูมิแป้งสุกปานกลาง อัตราการยืดตัวของข้าวสุกปกติ ข้าวสุกสีขาวนวลค่อนข้างมัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่มเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นหอม ลักษณะเด่น คือ เป็นข้าวขึ้นน้ำที่ให้ผลผลิตสูง (เฉลี่ย 401 กิโลกรัมต่อไร่) ศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 560 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถขึ้นน้ำและยืดปล้องได้ดี ปริมาณอมิโลสปานกลาง (24.8%) ข้าวสุกร่วน ใกล้เคียงข้าวขาวตาแห้ง 17 หุงขึ้นหม้อ มีปริมาณโปรตีนในข้าวกล้องสูง (9.2%) เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นา น้ำลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป มีช่วงเก็บเกี่ยวกลาง-ปลายเดือนธันวาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตพื้นที่นาข้าวขี้นน้ำในอำเภอบ้านสร้างและอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอปากพลี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก หรือสถานที่ที่มีสภาพนิเวศใกล้เคียงกัน ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและโรคใบขีดโปร่งแสงในสภาพเรือนทดลอง