โรคพืชก็คล้ายโรคคน

 

โรคพืชก็คล้ายโรคคน

ยกเครื่องเรื่องสารกำจัดศัตรูพืช

สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร

        สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช นอกจากประกอบด้วยสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังมีสารกำจัดโรคพืชรวมอยู่ด้วย

สถิติการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2550 -2554) มีปริมาณนำเข้าเฉลี่ย 70,000 ตัน/ปี ยกเว้นปี 2554 ที่นำเข้ามากถึงกว่า 87,000 ตัน เนื่องจากต้องขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืชใหม่ทั้งระบบ

สารกำจัดวัชพืช มีปริมาณมากที่สุด 50,000-60,000 ตัน/ปี คิดเป็นสัดส่วน 74-77% รองลงมาเป็นสารกำจัดแมลง 10,000 ตัน/ปี คิดเป็น 12-15% สารกำจัดโรคพืช 6,000-7,000 ตัน/ปี คิดเป็น 7-11% และสารอื่นๆ 2,000 ตัน/ปี คิดเป็น 2-3%

พืชละม้ายกับคนที่ติดเชื้อเป็นโรคได้ โดยมี เชื้อรา (Fungi) เชื้อแบคทีเรีย(Bacteria) เชื้อไวรัส (Virus) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ (Microorganism) หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นตัวก่อโรค ฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าเชื้อโรคจู่โจมเล่นงาน ก็มักสายเกินแก้สำหรับเกษตรกรทั่วไป ยกเว้นเกษตรกรที่มีข้อมูลว่าด้วยโรคพืช ความสัมพันธ์ระหว่างโรคกับสภาพภูมิอากาศ และการใช้สารกำจัดโรค

การจัดการกับโรคพืช หลักสำคัญต้องรู้จักโรค และวินิจฉัยโรคเป็น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการกำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช ซึ่งที่เป็นอยู่สะท้อนว่าเกษตรกรไทยยังรู้จักศัตรูพืชอย่างผิวเผิน และใช้กระบวนการรักษาไม่ถูกต้องจะเนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตามที

พืชที่เป็นโรคมีระดับความรุนแรงต่างกัน ลำพังเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียยังพอเยียวยารักษาอาการได้ แต่หากติดเชื้อไวรัสเข้าแล้ว หนทางดีที่สุดจำต้องทำลายสถานเดียว

โชคดีที่โรคพืชส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากเชื้อรา และตลาดใหญ่ที่ใช้สารกำจัดเชื้อรามากที่สุดเป็นนาข้าว ที่มักเผชิญปัญหาโรคเมล็ดต่างๆ (Dirty Panicle) ทำให้ผลผลิตต่ำ ข้าวเมล็ดลีบ หักง่าย ระหว่างการสีทำให้ถูกกดราคารับซื้อ

ชาวนาแก้ปัญหาโดยฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราในระยะข้าวออกรวง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง เนื่องจากความไม่รู้ แท้จริงแล้ว ต้นเหตุโรคเมล็ดด่างเกิดจากเชื้อราหลายชนิด และเริ่มที่ใบก่อน โดยเฉพาะจากเชื้อราชนิดที่ก่อให้เกิดโรคใบจุดสีน้ำตาล (Brown Spot) ซึ่งเกิดที่ใบในระยะข้าวแตกกอ แล้วค่อยลามไปที่เมล็ดเมื่อข้าวออกรวง ดังนั้นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในระยะข้าวเริ่มแตกกอจนถึงช่วงข้าวจะออกรวง หากไม่ป้องกันช่วงนี้ โรคก็จะลามถึงใบธง และกลายเป็นเมล็ดด่าง

สาเหตุสำคัญของโรคใบสีน้ำตาลจนพัฒนาเป็นโรคเมล็ดด่าง ส่วนหนึ่งเกิดจากเมล็ดพันธุ์ข้าวปนเปื้อนเชื้อรา อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวรุนแรง เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ได้มาตรฐานออกจำหน่าย ซ้ำร้ายโรคนี้ยังแพร่กระจายไปกับลมได้ ทำให้ข้าวมีโอกาสเป็นโรคได้ทุกระยะและกระพือเกิดอย่างรุนแรง อย่างน้อยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา

โดยที่ชาวนาไม่ตระหนักรู้ถึงปัญหาต้นตอ และสาละวนแก้ไขปลายเหตุ สูญเสียทั้งเงินค่าซื้อสารกำจัดเชื้อรา ผลผลิตข้าว รวมทั้งขายข้าวได้ในราคาต่ำ กลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างน่าเสียดาย

ศัตรูพืชอย่าง แมลงศัตรูพืช โรคพืช และวัชพืช หากรู้เท่าทันมัน และใช้สารกำจัดศัตรูพืชให้เป็น เกษตรกรไทยจะไม่มีคำว่ายากจน แม้ไม่อาจเรียกขานถึงขั้นร่ำรวยก็ตาม