กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : อยู่ไหน?

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : อยู่ไหน?

โดย : อนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

อดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

 

การชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าข้าวที่ชาวนาได้ไปจำนำไว้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ภายใต้โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งชาวนาได้รับใบประทวนมาตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ไม่ได้รับเงินเป็นระยะเวลาล่วงเลยมาหลายเดือน ซึ่งตามกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่นำข้าวเข้าไปสู่โครงการรับจำนำ เมื่อนำข้าวไปถึงจุดรับจำนำ ชาวนาจะได้รับใบประทวน และเมื่อนำใบประทวนไปขึ้นเงินกับ ธกส. จะได้รับเงิน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการรับเงินไม่เกิน 7 วัน

แต่ปรากฏว่า เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามระยะเวลาที่ชาวนาควรจะได้รับเงินจากการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำ ภายใน 7 วัน มีชาวนามากกว่าล้านครัวเรือนที่ไม่ได้รับเงินตามกำหนด รวมเป็นวงเงินประมาณ 130,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวนาเหล่านี้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ภายใต้การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับชาวนา รายได้จากการขายข้าวเปลือกในแต่ละรอบมีความหมายสำหรับครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะหมายถึงเงินที่จะได้มาใช้จ่ายสำหรับการครองชีพ สำหรับจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค ค่าเล่าเรียนลูก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า การใช้หนี้สินที่เกิดจากการลงทุนในการเพาะปลูก และที่สำคัญก็คือ ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็จะเป็นเงินลงทุนในการเพาะปลูกรอบต่อไป

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา วันที่เงินเดือนออกแต่ละเดือนจะเป็นช่วงที่ทุกคนจะมีความสุขที่จะได้ใช้เงินไปใช้จ่ายสำหรับในเดือนต่อไป เพียงระยะเวลา 1 เดือน หากเงินเดือนไม่ออก ทุกคนก็จะกังวล และมีจำนวนไม่น้อยคงจะไม่ทราบว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายได้อย่างไร

เพียงระยะเวลา 1 เดือน สำหรับการรอคอยเงินเดือนของมนุษย์เงินเดือน เรายังรู้สึกเดือดร้อนดังได้กล่าวมาแล้ว ลองเอาหัวใจของชาวนามาใส่ในหัวใจของเรา การปลูกข้าวใช้ระยะเวลาประมาณ 4 – 5 เดือน หวังจะมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวทันที แต่หากต้องรอเป็นระยะเวลา 4 – 5 เดือน กว่าจะได้เงินดังที่ชาวนามากว่าหนึ่งล้านครอบครัวกำลังประสบอยู่นี้ หรืออาจต้องรอคอยมากกว่านั้น จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้แก่ชาวนาเหล่านี้มากแค่ไหน และความเดือดร้อนดังกล่าวที่คนในสังคมไทยอาจจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่สำหรับชาวนาผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านี้ ถือว่าเป็นวิกฤติในครอบครัวที่แสนสาหัส ดังที่มีชาวนาหลายคนได้ฆ่าตัวตายดังที่ปรากฏเป็นข่าว และอาจจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

เคราะห์กรรมของชาวนาไทยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากการกระทำของรัฐบาล จากนโยบายรับจำนำข้าว แต่แทนที่รัฐบาลภายใต้การบริหารของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะรู้สึกสำนึกและแสดงความรับผิดชอบ กลับพยายามทำให้สังคมเข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาล ไม่เคยยอมรับว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการ และสิ่งที่น่าสังเวชใจที่สุด ที่มีรัฐมนตรีบางคนได้กล่าวว่า ชาวนาได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ มาแล้ว 2 ปี เพียงแต่เกิดปัญหาครั้งนี้ครั้งเดียว ทำไมต้องออกมาประท้วง และยังกล่าวหาว่าชาวนาที่ออกมาประท้วงนั้น เป็นชาวนาตัวปลอม มีการเมืองหนุนหลัง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือว่า พรรคเพื่อไทยได้ใช้นโยบายภายใต้สโลแกนว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” และกำหนดนโยบายโครงการรับจำนำขึ้นมา จนทำให้ชาวนาและพี่น้องเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เลือกสส.จากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจนสามารถตั้งรัฐบาลได้

ภายใต้ความเดือดร้อนของชาวนาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเงินจากรัฐบาล จากการขายข้าวของเขา เป็นที่น่าแปลกใจว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นกระทรวงหลัก มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาและการแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องเกษตรกร เพื่อให้มีชีวิต มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เท่าเทียมกับประชาชนคนไทยที่ประกอบอาชีพอื่น แต่เสียงเรียกร้องของชาวนาในครั้งนี้ เราไม่เคยเห็นผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปลัดกระทรวง หรือหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แสดงบทบาทในการร่วมทุกข์ร่วมสุข แสดงออกถึงมุฑิตาจิตในการที่จะช่วยซับน้ำตา ให้กำลังใจ และช่วยหาทางออกให้แก่ชาวนาเหล่านี้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าข้าวให้แก่ชาวนาได้ เพราะหน้าที่นี้เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ แต่มีหลายสิ่งหลายประการภายใต้กรอบนโยบาย ภารกิจหน้าที่ และความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อาจจะช่วยเยียวยาให้แก่พี่น้องชาวนาเหล่านี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ วันนี้กระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งผุกร่อนมานานแล้ว กำลังจะแตกหัก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไม่แสดงบทบาทอะไรบ้างหรือ

ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน วันนี้แผ่นดินไทยซึ่งแบกรับทุกข์ของชาวนาไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะช่วยแบกทุกข์ของชาวนาแทนแผ่นดินได้อย่างไร

เสียงเรียกร้องของชาวนา สังคมและคนทั่วทั้งประเทศได้รับรู้ ได้ยิน ได้เห็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รู้ ได้เห็น ได้ยินบ้างหรือเปล่าครับ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : อยู่ไหน?

เมื่อปี พ.ศ. 2504 ผมเป็นนิสิตปี 1 คณะกสิกรรมและสัตวบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เรียนวิชาสังคมวิทยา 101 ได้อ่านตำราที่เขียนโดย ดร. ไพบูลย์  เครือแก้ว ซึ่งผมจำได้ในสาระสำคัญที่ท่านกล่าวไว้ในหนังสือดังกล่าวว่า “สังคมไทย เป็นสังคมชนบท เพราะประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 85 อาศัยอยู่ในชนบท และสังคมชนบท คือ สังคมเกษตรกร เพราะประชาชนในชนบทประมาณร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทางการเกษตร ถึงแม้เกษตรกรจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ “เสียงเรียกร้องของเกษตรกร แผ่วเบาเหมือนกับเสียงลมที่พัดต้องยอดสนบนยอดดอยอินทนนท์”

จาก พ.ศ. 2504 – 2557 ถึงแม้เสียงเรียกร้องของเกษตรกรจะดังขึ้น แต่ก็ยังไร้ความหมายเหมือนกับเสียงเรียกร้องใน 53 ปีที่ผ่านมา

**********************************************************************