เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทย – แพน : กำลังทำอะไร

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
หรือไทย – แพน : กำลังทำอะไร

อนันต์  ดาโลดม

นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

13 พฤษภาคม 2559

 

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม จนถึงวันนี้ (13 พฤษภาคม 2559) จากการแถลงข่าวพบสารตกค้างเกินมาตรฐานของตัวอย่างผักผลไม้ที่มีการสุ่มตรวจ และนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยทันที และอย่างกว้างขวางจากสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ติดต่อกันมา ซึ่งนับว่าได้ผลที่ทำให้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทย-แพน) รวมทั้งผู้ที่มาแถลงข่าวได้ถูกสัมภาษณ์โดยสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และสถานีโทรทัศน์ ทำให้เป็นที่รู้จักสมดังเจตนารมณ์

ซึ่งการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ดูเสมือนว่า ไทย-แพน มีเจตนาดีที่จะปกป้องผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างมากมายในทุกมิติของภาคเกษตรไทย ดังต่อไปนี้

  1. เกษตรกรผู้ปลูกผักผลไม้ หรือผู้ผลิต กลายเป็นผู้ร้ายโดยทันที ที่ได้ผลิตสินค้าที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  2. หน่วยงานของรัฐที่ให้การรับรองตามมาตรฐานของ GAP หรือเกษตรอินทรีย์ ได้ออกใบรับรองที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ขาดการตรวจสอบ ติดตาม กำกับดูแลให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เป็นความล้มเหลวของหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
  3. ผู้จำหน่ายผักและผลไม้ในตลาดที่ไปสุ่มตรวจ เก็บตัวอย่าง หรือในห้างสรรพสินค้าที่วางจำหน่ายให้กับลูกค้า จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน
  4. ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการผลิตผัก ผลไม้ เสียหายจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ต่างประเทศที่เป็นผู้นำเข้าผัก ผลไม้จากประเทศไทย อาจต้องมีมาตรการเข้มงวดกวดขันมากยิ่งขึ้น

โดยสรุป จากข้อมูลที่ได้นำเสนอของไทย-แพน ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต หน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกใบรับรอง การควบคุมกำกับดูแล ผู้จัดจำหน่ายทั้งในตลาดและในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยรวมใช้การไม่ได้ มีปัญหาหมด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น จากการแถลงข่าวของไทย-แพน

สำหรับผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีนี้ ดังต่อไปนี้

  1. การสุ่มเก็บกลุ่มตัวอย่างที่ทำการวิเคราะห์น้อยมาก ในแง่สถิติไม่สามารถนำมาเป็นตัวแทนของผักผลไม้ที่มีวางจำหน่ายทั้งประเทศได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทาง มกอช. และกรมวิชาการเกษตร ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากว่า จำนวนตัวอย่างที่นำไปวิเคราะห์ และตัวเลขที่ออกมาดังกล่าวนั้น ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ
  2. ไทย-แพน อ้างว่าได้ส่งตัวอย่างที่มีการสุ่มเก็บไปทำการวิเคราะห์ที่ประเทศอังกฤษ ประเด็นคือ ผู้แถลงข่าวไม่ได้บอกว่าห้องปฏิบัติการที่ประเทศอังกฤษนั้น เป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ไม่มีชื่อที่อยู่ที่สามารถตรวจสอบได้
  3. หากมีการส่งตัวอย่างไปทำการวิเคราะห์ถึงประเทศอังกฤษตามที่กล่าวอ้าง จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานพอสมควร เพราะเวลาตั้งแต่การจัดเก็บจนถึงการนำไปตรวจสอบวิเคราะห์มีนัยยะสำคัญต่อปริมาณสารตกค้าง ถามว่า ไทย-แพน ได้งบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายมาจากที่ใด ได้ใช้เวลาไปนานเท่าใด
  4. ประเทศไทย มีห้องปฏิบัติการที่เป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่ง ไทย-แพน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาอยู่แล้ว ทำไมไม่ส่งกลุ่มตัวอย่างไปทำการวิเคราะห์ในองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ห้องปฏิบัติการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ “ที่มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือ” และผู้ที่สงสัยในความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าว สามารถที่จะติดต่อสอบถามได้โดยง่ายและรวดเร็ว
  5. ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกมากมายเช่นนี้ ก่อนที่จะมีการแถลงข่าว สมควรหรือไม่ที่ไทย-แพน จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการแถลงข่าวเพียงข้างเดียว
  6. ความเชื่อมโยงของไทย-แพน กับองค์กรเอกชน (NGO) ที่ออกมาให้ข้อมูลเชิงลบต่อภาคเกษตรไทยมาโดยตลอด พบว่า กลุ่มบุคคลที่มาแถลงข่าวนี้ มีความเชื่อมโยงกับไบโอไทย เครือข่ายกสิกรรมทางเลือก ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้ต่อต้านการใช้สารเคมี รวมทั้งการให้ข้อมูลที่ยอมรับไม่ได้ เช่น “หยุดสารเคมี เกษตรสารพิษ ฆ่าทุกชีวิตที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ใช้การผลิตอินทรีย์” ในเอกสารที่เผยแพร่ในการประชุมสมัชชาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 – 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งกลุ่มบุคคลและองค์กรเหล่านี้บิดเบือนข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกของเกษตรกรไทย โดยตั้งข้อกล่าวหามาอย่างต่อเนื่องและตลอดระยะเวลาทั้งทางด้านการประชุมสัมมนา ผ่านสื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ Spot โฆษณา โปสเตอร์ Banner Bill-Board ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.
  7. โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2550 องค์กรเอกชนและกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้พยายามเสนอร่าง พระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ……. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “การจัดเก็บภาษีสารเคมีและปุ๋ยเคมี” เพื่อนำเงินที่จัดเก็บนี้ไปตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อนำไปขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ และในเดือนสิงหาคม 2550 ผมได้นำเกษตรกรเดินขบวนไปยื่นหนังสือคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์) และได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น (ดร. ธีระ  สูตะบุตร) ผลสรุป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …… ได้ นี่คือความสำเร็จในการต่อสู้ของพี่น้องเกษตรกรไทย

ผมสงสารและเห็นใจเกษตรกรไทยที่ได้ใช้หยาดเหงื่อแรงงาน มีความยากลำบากที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงศัตรูพืชระบาด โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2559 ที่ภาคเกษตรไทยต้องเจอกับวิกฤติ ความแห้งแล้งที่ยาวนาน อุณหภูมิสูงสุด มีผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร พื้นที่การเกษตรจำนวนมากไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพราะขาดน้ำ รวมทั้งราคาพืชผลส่วนใหญ่ก็ตกต่ำ รายได้หดหาย แต่เกษตรกรก็ยังก้มหน้าก้มตาทำการเพาะปลูก สร้างผลผลิตออกมาให้พี่น้องคนไทยได้บริโภคอย่างไม่ขาดแคลน และยังมีเหลือเพื่อการแปรรูปและส่งออก แต่กระบวนการกล่าวหาภาคเกษตรไทยของกลุ่ม NGO เหล่านี้ ได้ทำร้ายเขามาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่เคยได้สัมผัสกลับความยากลำบากของการเกษตร เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยลงไปสัมผัสกับชีวิตที่แท้จริงของเกษตรกรไทย ไม่เคยปกป้องภาคเกษตรไทย มีแต่การกล่าวร้ายและโจมตีภาคเกษตรไทยอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559 ผมได้อ่านบทความในคอลัมน์ “สังคมโลก: ภัยแอบแฝง เอ็นจีโอ องค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ของต่างชาติที่ดำเนินกิจการอยู่ในแผ่นดินใหญ่มีอยู่มากมายหลายหมื่นกลุ่มและในหลากหลายรูปแบบ” ประเทศจีน จึงได้ออกกฎหมายจัดระเบียบ NGO ต่างชาติ ฉบับใหม่เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะทางการจีนเชื่อว่า NGO ต่างชาติจำนวนมาก มีวาระแอบแฝงโจรร้ายในคราบผู้ดีเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ การแก้ไขกฎหมายควบคุม จึงกระทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันเกมแผนร้ายใหม่ๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะได้นำเรื่องราวขององค์กรเอกชน หรือ NGO มาศึกษา วิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ทราบข้อมูล วัตถุประสงค์ แหล่งที่มาของเงินทุน รวมทั้งบุคลากรที่เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นคณะกรรมการ หรือเป็นผู้บริหาร รวมทั้งบรรดาสมาชิกขององค์กรนั้นๆ เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้นำเอกชนในองค์กรหลายองค์กรที่ประทับใจมาก คือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ที่สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ได้อย่างประสิทธิภาพ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่ได้กล่าวร้ายโจมตีหรือให้ข้อมูลที่บิดเบือนอย่างที่ NGO สายเกษตร ดำเนินการอยู่กับภาคเกษตรไทยในปัจจุบัน มองภาคเกษตรไทยในเชิงลบมาโดยตลอด หากมีใครที่ออกมาคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขา ก็จะถูกกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์จากต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจสำหรับภาคเกษตรไทย

สุดท้าย กรณีของไทย-แพน ผมอยากให้ส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวดังกล่าว ออกมา เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม รวมทั้งหาผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ ดังที่ผมเคยได้ฟ้อง NGO คนหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2541 และศาลตัดสินให้ผมชนะคดี โดยลงโทษ NGO ผู้นั้น ให้ติดคุก 1 ปี โทษปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

 

 

**********************************************************************